ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด 19 โรงพยาบาลศรีธัญญา จ.นนทบุรี ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ที่ยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องนั้น ในวันนี้ (28 มิ.ย.) มีการประชุมเครือข่ายกรมการแพทย์และโรงเรียนแพทย์ เพื่อแก้ไขและจัดลำดับความสำคัญ
โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยหนักสีแดงที่มีอาการรุนแรง ให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและมีเตียงรองรับเพียงพอ ลดการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด โดยมีข้อเสนอให้ผู้ป่วยโควิดสีเขียว ที่ไม่มีอาการสามารถรักษาตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation เพื่อให้มีเตียงดูแลผู้ป่วยอาการหนัก
โดยมีการหารือกับภาคเอกชนพัฒนาเทคโนโลยี เช่น จัดทำระบบติดตามตัว ระบบข้อความแจ้งเตือน และระบบการรายงานผลออกซิเจนและอุณหภูมิ รายงานผลไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัดหรือโรงพยาบาลที่ดูแล ให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงทีและเร็วที่สุด รวมถึงเป็นการช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย
ด้านนายแพทย์ สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า Home isolation หรือ แนวทางการรักษาผู้ป่วย โควิด-19 ที่บ้าน เบื้องต้นให้โรงพยาบาลประเมินผู้ป่วยที่มีอาการน้อย หรือกลุ่มสีเขียว มีความยินยอมที่จะรักษาตัวอยู่ที่บ้าน จากนั้นจะประเมินปัจจัยแวดล้อม เช่น มีห้องนอน หรือ ห้องน้ำ ที่สามารถแยกการใช้งานได้หรือไม่
หากคนกลุ่มนี้มีโรคประจำตัวต้องเป็นผู้ที่มีอาการคงที่ สามารถควบคุมโรคได้ ทีมแพทย์จะมีการส่งที่วัดไข้ / เครื่องวัดออกซิเจน ส่งให้กับผู้ป่วยที่บ้าน โดยจะมีทีมแพทย์ให้คำปรึกษา / สอบถามอาการผู้ป่วยผ่านโทรศัพท์ วันละ 1 ครั้ง
หากมีไม่มีอาการ แพทย์จะสั่งจ่ายยาฟ้าทลายโจร แต่ถ้าเริ่มมีอาการหรือมีโรคประจำตัวที่สามารถควบคุมได้ แพทย์จะสั่งจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ไปที่บ้าน พร้อมกับส่งอาหารให้ผู้ป่วยที่บ้าน 3 มื้อ ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ทางโรงพยาบาลจะเบิกจ่ายกับ สปสช. โดยเป็นค่าอุปกรณ์ไม่เกิน 1,100 บาท ค่าดูแลผู้ป่วยรวมอาหาร 3 มื้อ ไม่เกิน 1,000 บาทต่อวัน
โดยวิธีการแบบ Home isolation หรือ แนวทางการรักษาผู้ป่วย โควิด-19 ที่บ้าน มีการนำร่องที่โรงพยาบาลราชวิถีในผู้ป่วย 18 ราย พบว่า 16 รายอาการดีขึ้น ส่วนอีก 2 รายอาการแย่ลง ถูกส่งกลับมารักษาต่อที่โรงพยาบาลราชวิถี เบื้องต้น การรักษาแนวทางดังกล่าวใช้กับผู้ป่วยที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง ส่วนผู้ที่อยู่ในสิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ จะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
“ยอมรับว่าขณะนี้สถานการณ์เตียงผู้ป่วย โควิด-19 ในโรงพยาบาลรัฐอยู่ในขั้นวิกฤติทุกระดับ แต่เตียงโรงพยาบาลเอกชนยังพอมีเตียงผู้ป่วยว่าง แต่บางแห่งเลือกรับผู้ป่วย จึงอยากขอความรวมมือโรงพยาบาลเอกชนให้ช่วยรับผู้ป่วย โควิด-19 ทุกระดับสี”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :