ขับเคลื่อนไทยสู่เมืองสร้างสรรค์ รับเทรนด์การท่องเที่ยวยั่งยืน 

29 มิ.ย. 2564 | 05:21 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มิ.ย. 2564 | 05:29 น.

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติกำลังได้รับการตอบรับอย่างดีมากขึ้นเรื่อยๆ จากทั่วโลกและในทุกภาคส่วน ประเทศไทยในภาคการท่องเที่ยว กำลังเดินหน้าพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วยการขับเคลื่อนเมืองในพื้นที่พิเศษ เข้าสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (The UNESCO Creative Cities Network หรือ UCCN)

คณะกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. คือหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ยกระดับ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับแหล่งท่องเที่ยวชุมชน และประชาชนในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมา อพท. ได้ดำเนินการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษและพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายตามหลักมาตรฐานสากลให้เกิดความยั่งยืน มาตั้งแต่ปี 2562 สอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม

ในปี 2562 ยูเนสโกได้ประกาศให้จังหวัดสุโขทัย ได้รับเลือกเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านและยังมีอีก 3 เมือง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ด้านการออกแบบ เชียงใหม่ ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ภูเก็ต ด้านอาหาร ที่ยูเนสโกประกาศเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์แล้ว และในปี 2564 กำลังเตรียมความพร้อมเพื่อยื่นใบสมัครอีก 4 เมืองคือ น่าน สุพรรณบุรี เชียงราย และเพชรบุรี

หากถามว่า ทำไมไทยเราต้องการใบรับรองเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์จากยูเนสโก 

เรื่องนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” บอกชัดเจนว่า การขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ ประโยชน์ที่ได้ คือ เป้าหมายทางการตลาด เพราะนักท่องเที่ยวยุคใหม่ จะให้ความสนใจการเดินทางท่องเที่ยวแบบสร้างสรรค์และยั่งยืน

ล่าสุด ยังมีความพยายามจัดตั้ง “เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของประเทศไทย” (Thailand Creative Cities Network : TCCN) ที่มี อพท. เป็นพี่เลี้ยงเมืองที่ประสงค์เข้าเครือข่าย UCCN รวมทั้งสร้างให้ TCCN เป็นเครือข่ายสำหรับร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ในทุกมิติ รวมทั้งสร้างเครือข่าย และความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงาน เพื่อพัฒนาเมืองไปสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก

อีกหนึ่งหน่วยงานที่ร่วมผลักดัน เมืองสร้างสรรค์ของไทย ก็คือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ สศส. (CEA) ที่จับมือกับ อพท. ตั้งแต่ปี 2563 เพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่ต่างๆให้กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์ที่เติบโตได้อย่างยั่งยืน เป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และยังสร้างมูลค่าให้กับสินทรัพย์และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีอยู่เดิม นำไปสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 16 ฉบับที่ 3,691 วันที่ 27 - 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564