กรณี ที่ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เพื่อขอให้พิจารณาอนุมัติ ผ่อนปรนโครงการการก่อสร้างโครงการก่อสร้างบางประเภทและเคลื่อนย้ายแรงงานในกรณีมีเหตุจำเป็น
ล่าสุด นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามอนุมัติในหลักการการให้อนุญาตสำหรับการก่อสร้างโครงการก่อสร้างบางประเภท และเคลื่อนย้ายแรงงานในกรณีที่มีความจำเป็น เพื่อผ่อนคลายมาตรการ ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา
สำหรับรายที่มีปัญหาว่า ถ้าการหยุด หรือ ปิดแคมป์ จะทำให้เกิดอันตรายหรือไม่ปลอดภัย ก็อนุญาตให้เข้าไปเก็บงาน หรือ ปิดงานได้ ไม่ใช่การก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น การก่อสร้างรถไฟฟ้า
โดยในคำสั่งดังกล่าวของนายกฯ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปใช้อำนาจ ออกคำสั่งในแต่ละจังหวัดอีกครั้ง ซึ่งแต่ละจังหวัดจะไม่เหมือนกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องไปออกคำสั่ง และสำรวจเองว่าในแต่ละจังหวัดมีการก่อสร้างอะไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม จะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา อีกครั้ง
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามอนุมัติในหลักการการให้อนุญาตสำหรับการก่อสร้างโครงการก่อสร้างบางประเภท และเคลื่อนย้ายแรงงานในกรณีที่มีความจำเป็น เพื่อผ่อนคลายมาตรการ ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา
เนื่องจากกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล มีข้อห่วงกังวลกรณีข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) นี้ มีการสั่งห้ามการก่อสร้างขนาดใหญ่ทุกประเภทในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
รวมถึงสั่งห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานภาคก่อสร้างเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน ซึ่งการหยุดก่อสร้างชั่วคราวอาจจะส่งผลกระทบให้ความเสียหายเชิงโครงสร้างทางวิศวกรรม และโครงการก่อสร้างบางประเภท ที่มีความจำเป็นอันสมควรได้รับการยกเว้น เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับมาตรการการควบคุมการแพทยระบาดของโรค โควิด-19 และประโยชน์ด้านสาธารณสุข
โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพิจารณา จึงขอเสนอให้มีการผ่อนคลายคำสั่งห้ามการก่อสร้างในโครงการก่อสร้างบางประเภท ดังนี้
1.โครงการก่อสร้างซึ่งหากหยุดก่อสร้างในทันที หรือการดำเนินการล่าช้า อาจก่อให้เกิดความเสียหายเชิงโครงสร้างด้านวิศวกรรมจนยากต่อการแก้ไข หรือเกิดอันตรายแก่ประชาชนที่สัญจรไปมา หรือชุมชนโดยรอบโครงการก่อสร้างนั้น เช่น โครงการก่อสร้างใต้ดินที่มีความลึก การก่อสร้างชั้นใต้ดินที่ยังไม่ได้เทปูนปิดล้อม
2.การก่อสร้างชั่วคราวซึ่งหยุดการก่อสร้างในทันที หรือดำเนินการล่าช้าจะได้รับความเสียหายจนเกิดอันตรายแก่ประชาชนที่สัญจรไปมา หรือชุมชนโดยรอบโครงการดังกล่าว เช่น นั่งร้าน และแบบรอการเทปูน โดยเฉพาะแผ่นพื้นที่
3.การก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านการจราจร เช่น ไฟสัญญาณจราจร แบร์ริเออร์กั้นช่องจราจร แผ่นเหล็กปิดงานก่อสร้างบนผิวจราจร
และ 4.การก่อสร้างในสถานที่ก่อสร้างที่มีความเกี่ยวข้องกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ด้านสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาล สถานพยาบาล หรือ สถานที่ก่อสร้างอื่นๆ ที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรค
นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมพิจารณาขอผ่อนคลายคำสั่งเคลื่อนย้ายแรงงาน ประเภทก่อสร้าง จากสถานที่พักชั่วคราว ทั้งกรณีการข้ามเขตจังหวัด หรือภายในเขตจังหวัด เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรคโควิด-19 เช่น การรักษาพยาบาล การควบคุมป้องกันโรค การตรวจสุขภาพ การตรวจวินิจฉัยและ การฉีดวัคซีน
ทั้งนี้ ให้ผู้ว่า ฯ กทม. ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการโรคติดต่อ เป็นผู้พิจารณาอนุญาตโครงการก่อสร้างที่เข้าหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ประเภทข้างต้นในเขตพื้นที่ของตนเองเป็นรายกรณี
มติที่ประชุมศปก.ศบค.ได้พิจารณาข้อเสนอดังกล่าวแล้ว และได้ให้ความเห็นชอบในหลักการ ขณะเดียวกัน มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อความมั่นคงด้านสาธารณสุข ดังนี้
เห็นสมควรให้ผ่อนคลายคำสั่งห้ามการก่อสร้างในโครงการบางประเภทตามที่ กทม.เสนอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการที่แรงงานก่อสร้างนั้นได้รับวัคซีนแล้ว โดยสามารถเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้างเพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรค
และเห็นสมควรให้ผู้ว่าฯกทม. หรือผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เป็นผู้พิจารณาอนุญาตโครงการก่อสร้างเฉพาะที่เข้าหลักเกณฑ์
ทั้ง ขอให้ กทม.และจังหวัดปริมณฑลกำกับติดตามการดำเนินการก่อสร้างโครงการที่มีความจำเป็นตามที่ได้รับการผ่อนคลายให้ดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
ส่วนการก่อสร้างขนาดเล็กที่ไม่ถูกห้ามตามข้อกำหนดฉบับที่ 25 ถ้าผู้ว่าฯ กทม.หรือ ผู้ว่าฯ จังหวัด เห็นว่า หากปล่อยให้การก่อสร้างดำเนินต่อไป อันเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นวงกว้าง ให้ผู้ว่าฯ กทม. หรือผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัด ใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พิจารณาสั่งปิดสถานที่ก่อสร้างหรือหยุดการก่อสร้างนั้นตามอำนาจและหน้าที่
รวมถึงให้ทาง กทม.และจังหวัดปริมณฑลทำการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้เข้าใจมาตรการตามข้อกำหนดฉบับที่ 25 ที่ไม่ห้ามการก่อสร้างโครงการขนาดเล็ก ซึ่งไม่มีการเคลื่อนย้ายแรงจำนวนมาก อันเป็นเหตุให้เกิดการแพร่กระจายของโรค
และให้จัดช่องทางสำหรับประชาชน หรือ ผู้ประกอบการในการที่จะสอบถามเกี่ยวกับการดำเนินการตามคำสั่งตามข้อกำหนดฉบับที่ 25 ดังกล่าว