วันนี้ (4 กรกฎาคม 2564) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ในปัจจุบันโดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ยังคงพบการติดเชื้อโควิด 19 และมีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์เตียงรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ในขณะนี้ค่อนข้างหนาแน่น เพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระการขาดแคลนเตียงใน กทม. กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ขยายเตียงเพิ่มอีก 1,500 เตียง รองรับจำนวนผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียวและสีเหลือง ซึ่งในกลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวัน
โดยบ่ายวันนี้จะเริ่มรับผู้ป่วยเข้ามารักษา เพื่อให้ทันเหตุการณ์ในการดูแลประชาชนได้อย่างรวดเร็ว โดยภาพรวมขณะนี้โรงพยาบาลบุษราคัม สามารถรองรับผู้ป่วยได้กว่า 3,700 เตียง และสามารถขยายเพิ่ม เป็น 4,000 เตียงในอนาคต
นายอนุทินกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากกองบัญชาการกองทัพไทยจัดกำลังทหารหน่วยพัฒนามาช่วยประกอบเตียงที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ปัญจพลไฟเบอร์คอนเทนเนอร์ จำกัด เพิ่มอีกจำนวน 2,000 เตียง มีเจ้าหน้าที่จิตอาสาของกระทรวงสาธารณสุขมาช่วยจัดเตรียมสถานที่ และได้รับความร่วมมือจากผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 จัดกำลังตำรวจมาดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบุษราคัม
สำหรับการจัดตั้งโรงพยาบาลบุษราคัมทั้ง 2 ระยะมีเตียงรวมจำนวน 2,161 เตียง รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีเหลืองอ่อนในเขตกทม.และพื้นที่ใกล้เคียง ที่ผ่านมาได้ช่วยคลี่คลายปัญหาการขาดแคลนเตียงได้เป็นอย่างดียิ่ง แบ่งเบาภาระโรงพยาบาลหลักให้ดูแลผู้ป่วยอาการสีเหลืองเข้มและสีแดงได้มากยิ่งขึ้น
โดยผลการดำเนินงานโรงพยาบาลบุษราคัมทั้ง 2 ระยะ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม – 3 กรกฎาคม 2564 มีผู้ป่วยโควิด 19 เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยวันละ 100 ราย ผู้ป่วยสะสม 5,064 ราย รักษาหายกลับบ้าน 3,055 ราย ส่งรักษาต่อ 167 ราย
ยังอยู่ระหว่างการรักษา 1,842 ราย เป็นผู้ป่วยกลุ่มอาการสีเหลืองอ่อน 1,410 ราย กลุ่มสีเหลือง 432 ราย เหลือจำนวนเตียงว่าง 319 เตียง
ด้านนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลบุษราคัม ระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 และระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี เพื่อรองรับผู้ป่วยโรคโควิด 19 ให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ทันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ให้การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ตามมาตรฐานการรักษาพยาบาล รวมทั้งบูรณาการการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงาน ทั้งด้านการจัดสรรทรัพยากร การบริหารจัดการด้านมาตรฐานการรักษาพยาบาล ระบบการส่งต่อผู้ป่วย ให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ ด้านบุคลากรทางการแพทย์ได้รับการสนับสนุนจากทุกเขตสุขภาพผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอสำหรับดูแลผู้ป่วยตามจำนวนเตียงที่เพิ่มขึ้น