วันนี้(5 ก.ค.64) เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ นำโดย พ.ท.พ.ญ.กมลพรรณ ชีวะพันธ์ศรี และ นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ แกนนำกลุ่มไทยไม่ทน เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ นายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข ผอ.องค์การเภสัชกรรม ผอ.องค์การอาหารและยา คณะกรรมการบริหารวัคซีน รมว.มหาดไทย กรณีบริหารจัดการวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ล่าช้า ไม่มีประสิทธิภาพ
พ.ท.พ.ญ.กมลพรรณ กล่าวว่า หลายหน่วยงานในต่างประเทศ รวมทั้งแพทย์ที่ได้รับ “วัคซีนซิโนแวค” ต่างก็ออกมาระบุว่า เป็นวัคซีนที่มีคุณภาพต่ำ ราคาแพง แต่รัฐบาลก็ยังกลับสั่งนำเข้ามาใช้กับประชาชนจำนวนมาก
ขณะเดียวกันโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งต้องการนำเข้า วัคซีนไฟเซอร์ โมเดอร์น่า หน่วยงานของรัฐทั้งองค์การเภสัชกรรม องค์การอาหารและยา กลับดำเนินการอนุญาตล่าช้า ซ้ำยังเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งส่งผลเสียทำให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพล่าช้า และถูกโรงพยาบาลเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค
ทั้งที่รัฐธรรมนูญมาตรา 47 กำหนดว่า บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
และมาตรา 55 ระบุว่า รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง ดังนั้น รัฐควรจะสนับสนุนให้เอกชนนำเข้าวัคซีนโดยไม่จัดเก็บภาษี หรือนำเข้าเองมาฉีดให้กับประชาชน
“วันนี้มีคนติดเชื้อวันละ 5,000 คน เสียชีวิตวันละหลายสิบคน แต่กลับใข้เงินกู้ 2 ครั้งกว่า 1.5 ล้านล้านบาท เยียวยาประชาชนคนละเล็กน้อยไม่พอใช้ โดยไม่คิดจะทุ่มงบประมาณไม่เกินแสนล้านจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพมาให้กับประชาชน
วัคซีนไฟเซอร์ ราคา 300-500 บาท จำนวน 60 ล้านโดส สองเข็มใช้เงินแค่หลักหมื่นล้านบาท ก็สามารถฉีดให้กับประชาชนได้ครอบคลุมทั้งประเทศ
แต่รัฐบาลกลับไม่ดำเนินการ เจตนาเหมือนต้องการเลี้ยงไข้ และต้องการจัดหาวัคซีนเพียงซิโนแวคเท่านั้น ทั้งๆ ที่สามารถบริหารจัดการให้สามารถป้องกันโรคได้ การกระทำของรัฐบาลและหน่วยงานทั้งหมด จึงเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้า ทำงานล่าเช้า และถ่วงเวลา” พ.ท.พ.ญ.กมลพรรณ ระบุ