นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลแคร์ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือ THG ผู้บริหารโรงพยาบาลและธุรกิจดูแลสุขภาพเครือโรงพยาบาลธนบุรี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การระบาดอย่างหนักของไวรัสโควิดสายพันธุ์อินเดียหรือเดลต้า
ทำให้คนไทยหวั่นวิตกอีกทั้งการฉีดวัคซีนที่ผ่านมาเป็นวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อฉีด 2 เข็มไปแล้วยังติดเชื้ออีกจำนวนมาก จึงต้องการวัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่างวัคซีน mRNA ดังนั้นจึงเห็นการแห่จองวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นาผ่านโรงพยาบาลต่างๆมากมายและหมดในเวลาอันรวดเร็ว
พร้อมจ่ายสด 1.5 หมื่นล.
ทั้งนี้อยากให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เซ็นสัญญาสั่งซื้อให้เร็วที่สุดเพื่อให้การนำเข้ามาฉีดได้เร็วขึ้น หากได้รับในเดือนกันยายนจะยิ่งดีมาก เพราะจะช่วยสร้างภูมิและลดการติดเชื้อได้มาก หลังจากที่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงและวันนี้ยอดผู้ติดเชื้อมีมากกว่า 7,000 ราย
และคาดว่าเมื่อปูพรมตรวจจะพบผู้ติดเชื้อมากกว่าหมื่นรายต่อวัน ดังนั้น “วัคซีน” จึงสำคัญมาก หากยิ่งฉีดได้เร็วเท่าไร จะยิ่งดี ไม่ใช่เฉพาะวัคซีนโมเดอร์นาเท่านั้น วัคซีนทุกชนิดหากได้รับก่อนก็ควรจะฉีดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน
อย่างไรก็ดี เครือรพ.ธนบุรีเองมีความพร้อมและเตรียมสำรองเงินสดไว้ 1.5 หมื่นล้านบาทในธนาคารกสิกรไทยแล้ว สามารถนำไปจ่ายให้กับอภ.ได้ทันทีในวันศุกร์นี้ เพื่อเป็นการยืนยันว่าสั่งซื้อแน่นอนและให้อภ. เซ็นสัญญาและจ่ายเงินให้กับบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด เพื่อคนไทยจะได้ฉีดวัคซีนโมเดอร์นาเร็วขึ้น
ไม่ว่าจะฉีดเป็นเข็มแรก เข็ม 2 หรือเข็ม 3 ส่วนวัคซีนไฟเซอร์นั้น รัฐบาลควรเร่งนำไปฉีดให้กับเยาวชนก่อน เพราะปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อในกลุ่มเด็กและเยาวชนเริ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นด่านหน้า และมีความเสี่ยงสูง ก็จำเป็นที่จะต้องฉีดก่อน
“การเร่งนำเข้าและฉีดวัคซีนไม่อยากให้มองว่าเป็นผลประโยชน์ทางธุรกิจ อยากให้มองเรื่องคนป่วยเป็นหลัก ทำอย่างไรจะลดจำนวนผู้ติดเชื้อและรักษาผู้ที่ติดเชื้อแล้วให้หาย”
โอดรับจัดสรรน้อย
ภญ. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ทุกคนมีความวิตกกังวลกังวลในเรื่องจำนวนวัคซีนไม่เพียงพอเพราะดีมานด์มากกว่าซัพพลาย ขณะที่รพ.เอกชนต้องจับมือทำงานร่วมกับสมาคมร.พ.เอกชนเพื่อที่จะนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา ซึ่งจนถึงวันนี้จำนวนที่ได้รับการจัดสรรยังน้อยมากเมื่อเทียบกับยอดที่จองไป และขณะนี้ยื่นเรื่องขอพิจารณาจัดสรรใหม่
โดยบำรุงราษฎร์จะเปิดให้จองวัคซีนโมเดอร์นาในวันที่ 9 ก.ค.นี้โดยสงวนสิทธิ์ให้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ป่วยหรือลูกค้าที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนโควิดใดๆ มาก่อนสามารถฉีดวัคซีนโมเดอร์นาได้ 2 เข็ม และกลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว 2 เข็ม จะได้รับโมเดอร์นา 1 เข็มเป็นบูสเตอร์
“บำรุงราษฎร์ไม่มีเครือข่าย จึงสั่งจองวัคซีนในปริมาณไม่มากนัก และได้รับจัดสรรน้อยเกินที่คาดการณ์ไว้มากพอสมควร”
จ่อสั่งจอง J&J 7 แสนโดส
นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า เวลานี้ผู้ประกอบการที่พอมีกำลังทรัพย์และมีความพร้อมก็หันไปสั่งจองวัคซีนทางเลือก โดยทางสภาอุตสาหกรรมสมุทรสาครยังผลักดันเรื่องวัคซีนทางเลือก โดยหาช่องทางในการสั่งซื้อเข้ามา
เบื้องต้นมีแผนจะสั่งวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (J&J) 7 แสนโดส เพราะฉีดเข็มเดียวคุมได้ ซึ่งเราต้องเอาให้อยู่ เพราะสมุทรสาครถือเป็นย่านเศรษฐกิจ และเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกสำคัญของประเทศ มีโรงงานกว่า 6,000 โรงอยู่ในพื้นที่ ล่าสุดทางจังหวัดได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มจาก 3 แห่งเป็น 7 แห่งรองรับผู้ป่วยโควิดได้ประมาณ 2,000 คนเพื่อรับกับสถานการณ์ในระลอก 4
ทั้งนี้สมุทรสาครมีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน ในจำนวนนี้มีแรงงานไทยกว่า 3 แสนคน แรงงานต่างด้าวกว่า 3 แสนคน ที่เหลือเป็นประชาชนในพื้นที่ โดยที่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
ในจำนวนนี้เป็นแรงงานในนิคมฯสมุทรสาคร และนิคมฯสินสาครรวมกว่า 3 หมื่นคน ล่าสุดทางจังหวัดได้รับการจัดสรรวัคซีนหลักเพื่อฉีดในเดือนก.ค.เพียง 1 แสนโดส จากเดิมคาดจะได้ 3.3 แสนโดส ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการ
หวั่นฉุดส่งออกร่วง
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การระบาดของเชื้อโควิดในเวลานี้ เริ่มมีพนักงานและคนงานในนิคมอุตสาหกรรมติดเชื้อบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเอาอยู่ ทำให้เวลานี้ทุกนิคมฯต้องทำงานหนัก ต้องเข้มงวดในการป้องกันเชื้อโควิดมากขึ้น
ที่ผ่านมาสมาชิกของส.อ.ท.ได้มีการสั่งซื้อวัคซีนทางเลือก (ซิโนฟาร์ม)จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อฉีดให้กับพนักงานและคนงานในล็อตแรกกว่า 1,300 โรงงานได้รับการจัดสรรประมาณ 3.75 แสนคน ครบตามที่ขอไป
ขณะนี้ได้มีการนัดหมายและทยอยฉีดวัคซีนแล้ว ส่วนในล็อตที่ 2 กำลังรวบรวมความต้องการที่ชัดเจนเพราะมีหลายบริษัทเริ่มได้รับการฉีดวัคซีนหลักจากภาครัฐ ทำให้ความต้องการเปลี่ยนไป
“ที่น่าเป็นกังวลในตอนนี้คือ กรณีที่ กกร.เพิ่งปรับคาดการณ์ส่งออกไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 8-10% (ณ ก.ค.64) จากเห็นทิศทางแนวโน้มดี แต่สิ่งที่เราห่วงคือการป้องกันไม่ให้โรงงานถูกเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่เข้ามาโจมตี เพราะจะส่งผลให้สายการผลิตต้องปิดชั่วคราว
อาจส่งผลให้การส่งออกสะดุด และถ้ามีการระบาดเข้าไปในนิคมอุตสาห กรรมหรือในโรงงานใหญ่ๆ ที่ส่งออกโดยตรง และมีคนงานเยอะๆ อาจส่งผลให้ตัวเลขส่งออกต้องมาปรับลดกันใหม่ และอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายได้”
ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรม ณ วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 พบมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในสถานประกอบการโรงงานสะสมกว่า 200 โรงทั่วประเทศ และมีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 17,000 ราย