หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมัน 12 กรกฎาคม 2564
+ ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุน หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุด 2 ก.ค 64 ปรับลดลง 6.9 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 445.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 63 ตามรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) และลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับลงเพียง 4 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นสัญญาณแสดงถึงอุปทานน้ำมันดิบที่ตึงตัวในสหรัฐฯ หลังความต้องการใช้น้ำมันเริ่มฟื้นตัว
- หลายประเทศยังคงเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาทิเช่น อินโดนีเซียที่ยังพบผู้ติดเชื้อในระดับสูง ทำให้ต้องขยายพื้นที่ล็อคดาวน์ ส่วนมาเลเซีย ไทยและเกาหลีใต้ ได้มีการประกาศมาตรการเข้มงวด เพื่อลดการแพร่ระบาด เช่นเดียวกับเนเธอร์แลนด์ ที่ให้ร้านอาหารหยุดดำเนินการและงดงานเทศกาล
- ตลาดกังวลความไม่แน่นอนของนโยบายการผลิตกลุ่มโอเปกพลัส หลังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในการประชุมที่ผ่านมา รัสเซียจึงพยายามที่จะเป็นตัวกลางในการเจรจาเพื่อหาข้อยุติความขัดแย้งระหว่างซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรต เรื่องการเพิ่มกำลังผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส นับตั้งแต่เดือน ส.ค. 64 เป็นต้นไป
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุด 2 ก.ค. ปรับลดลง 6.08 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 235.5 ล้านบาร์เรล
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังความต้องการใช้น้ำมันดีเซลในหลายประเทศถูกกดดันจากมาตรการล็อคดาวน์เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นอกจากนั้นอุปทานน้ำมันดีเซลอาจเพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นฟิลิปปินส์ Bataan กลับมาดำเนินการผลิต จากที่หยุดดำเนินการ 5 เดือน
ที่มา : บมจ.ไทยออยล์
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อวันศุกร์ (9 ก.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบร่วงลงอย่างหนักในสัปดาห์ที่ผ่านมา
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 1.62 ดอลลาร์ หรือ 2.2% ปิดที่ 74.56 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ลดลง 0.84% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 1.43 ดอลลาร์ หรือ 1.9% ปิดที่ 75.55 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ลดลง 0.8% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา