รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า
วัคซีนเป็นองค์ประกอบเสริม กับ การคัดกรองอย่างรวดเร็วและแยกตัวทันทีและการที่ยังคงมีวินัยสูงสุดไม่ว่าจะได้รับวัคซีนไปแล้วก็ตาม
ถ้าละเลยไม่ป้องกัน ระวังตัว ในท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังมีคนติดเชื้อหนาแน่นในชุมชนแยกไม่ออกโอกาสที่ติดเชื้อย่อมมีสูงขึ้นตามลำดับ
การฉีดวัคซีนที่หวังว่าจะเป็นอาวุธวิเศษ ต้องคำนึงถึงความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อ แต่ถ้าป้องกันไม่อยู่เกิดมีการติดเชื้อขึ้นจะสามารถบรรเทาให้ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล ไม่มีอาการหนัก ไม่เสียชีวิต รวมทั้งผู้ที่ฉีดวัคซีนไปแล้วและติดเชื้อจะสามารถลดการแพร่เชื้อให้คนอื่นติดตามไปอีกได้มากน้อยเพียงใด
รายงานของระบบสุขภาพของอังกฤษ (Public Health England) สัปดาห์ที่ 20
วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) โมเดอร์นา (Moderna) ถ้าฉีดหนึ่งเข็มจะป้องกันการติดเชื้อได้ 55 ถึง 70% และถ้าเป็นสองเข็มจะป้องกันได้ 70 ถึง 90%
ฉีดหนึ่งเข็มและเกิดติดเขื้อจะลดการที่มีอาการได้ 55 ถึง 70% และสองเข็มจะลดได้ 85 ถึง 90%
ฉีดหนึ่งเข็มและเกิดติดเชื้อจะลดโอกาสที่ต้องเข้าโรงพยาบาลได้ 75 ถึง 85% และฉีดสองเข็มจะลดได้ 90 ถึง 95%
ในส่วนของการป้องกันการเสียชีวิตฉีดหนึ่งเข็มจะลดได้ 75 ถึง 80% ฉีดสองเข็มจะลดได้ 95 ถึง 99%
สำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) เมื่อฉีดหนึ่งเข็มจะลดการติดเชื้อได้ 60 ถึง 70% แต่ถ้าติดจะลดการเกิดอาการได้ 55 ถึง 70% ลดการเข้าโรงพยาบาลได้ 75 ถึง 80% และลดอัตราเสียชีวิตได้ 75 ถึง 80% และลดการแพร่เชื้อไปให้คนอื่นได้ 35 ถึง 50% ส่วนข้อมูลของสองเข็มนั้นยังไม่ชัดเจนนัก
อย่างไรก็ตาม คนติดเชื้อไวรัสเดลต้า หรือสายอินเดีย หลังจากได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มยังมีการติดเชื้อได้หลากหลายโดยรายงานต่อเนื่องจะประมาณ 6% แต่ในจำนวนที่ติดเชื้อแล้วมีอาการหนักต้องเข้าโรงพยาบาลคือ 11%
ผู้ป่วยที่เสียชีวิต จากการติดไวรัสสายพันธุ์เดลตา ทั้งหมด 42 ราย ในอังกฤษที่ใช้วัคซีนไฟเซอร์และแอสตร้า มีถึง 12 ราย หรือ 28.5% เป็นผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ถ้ารวมอีก 7 ราย ที่ได้วัคซีน 1 เข็ม ตัวเลขของผู้ป่วยเสียชีวิตที่ได้วัคซีนครบ 1 เข็ม สูงถึง 45.2%
ตัวเลขดังกล่าวนี้จะผันแปรตามปัจจัยต่างๆที่มีอิทธิพลต่อการติดเชื้อไม่ว่าจะเป็นตัวเชื้อไวรัสเองที่แม้ว่าจะเป็นตัวเดลต้า แต่ส่วนของไวรัสที่กำหนดความรุนแรงจะมีอยู่หลายส่วนของไวรัสด้วยกัน ดังนั้นการประเมินสถานการณ์จำเป็นต้องพิจารณาทั้งความเสี่ยงที่ทำให้ติดง่ายขึ้น แพร่ง่ายขึ้นและความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการหนักรุนแรงจนถึงเสียชีวิต
ซึ่งทั้งสองส่วนต้องพิจารณาควบคู่กันเสมอ และตัวเลขที่ปรากฏจะต้องไม่ถือเป็นตัวเลขตายตัว และต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
และนอกจากนั้นยังมีปัจจัยที่ทำให้ติดง่ายและเสียชีวิตง่ายซึ่งขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของชุมชนการรักษาวินัยระยะห่างรวมกระทั่งถึงปัจจัยส่วนบุคคล ที่กำหนดการตอบสนองต่อการติดเชื้อได้ดีเพียงใดรวมถึงอายุและภาวะโรคประจำตัวที่มีอยู่ การวินิจฉัยได้เร็วเพียงใดและเริ่มการรักษาได้เร็วเพียงใด
ในการฉีดวัคซีน ต้องบุกแหลก บุกหนัก เน้นความสำคัญของการได้ 2 เข็ม แบบไม่รอช้า เข็มสองไม่ต้องห่างนานเกินไป
เร่งหาวัคซีน เร่งฉีดเร็ว
และแน่นอน ถ้าละเลยไม่ป้องกัน ระวังตัว ในท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังมีคนติดเชื้อหนาแน่นในชุมชนแยกไม่ออกโอกาสที่ติดเชื้อย่อมมีสูงขึ้นตามลำดับ
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมตัวเลขการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทยวันที่ 28 ก.พ.-11 ก.ค. 64 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีการฉีดสะสมจำนวน 12,569,213 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 9,301,407 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 3,267,806 ราย