รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า12 กรกฎาคม 2564 วิเคราะห์สถานการณ์การระบาดของไทยเรา และผลกระทบในแต่ละมิติ
ด้านสาธารณสุข:
1.เรายังไม่สามารถทราบจำนวนผู้ติดเชื้อจริงในสังคมได้ เพราะยังมีข้อจำกัดเรื่องขีดความสามารถของระบบการตรวจคัดกรองโรค
2.จำนวนติดเชื้อที่มีอยู่เดิม และเพิ่มเติมมาในแต่ละวันจากการตรวจพบในระบบบริการและเชิงรุก ก็มีจำนวนมากเกินกว่าระบบเดิมจะรองรับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ระบาดรุนแรง ทั้งกทม.และปริมณฑล
3.การผ่องถ่ายภาระในระบบสุขภาพโดยให้คนติดเชื้อที่ไม่มีอาการไปกักตัวที่บ้านนั้นน่าจะช่วยลดโหลดในระบบได้ราว 20% ทำให้ระบบสุขภาพหายใจหายคอได้ดีขึ้นระยะหนึ่ง ซึ่งหากยังมีการติดเชื้อรายใหม่ในระดับนี้ อาจจะประสบปัญหาล้นอีกครั้งในอีก 2-4 สัปดาห์
4.ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความช้าหรือเร็วที่จะเจอภาวะล้นของระบบสุขภาพหลังดำเนินนโยบาย home isolation ไปคือ
หนึ่ง การป้องกันการติดเชื้อแพร่เชื้อในหมู่สมาชิกภายในครอบครัวหรือที่อาศัยในบริเวณเดียวกัน หากป้องกันไม่เข้มแข็ง อาจเกิดจำนวนติดเชื้อมากขึ้นเร็ว การให้ความรู้ ทำความเข้าใจ จัดสรรอุปกรณ์ป้องกันตัวเพื่อใช้ชีวิตภายในบ้าน รวมถึงบริการให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ที่เหมาะสมกับคนในพื้นที่ จึงมีความจำเป็นอย่างมาก
สอง การใช้ Rapid antigen test ในชุมชนว่าทำมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้หากตรวจเจอผลบวก หากชุดตรวจได้มาตรฐานสากล มักไม่ค่อยกังวลเรื่องผลบวกปลอมเท่าใดนัก แต่ก็ยังต้องไปเข้าสู่กระบวนการตรวจด้วยการแยงจมูกเพื่อทำ RT-PCR อยู่ดี ดังนั้นหลังมีการให้ใช้ Rapid antigen test ถ้าตรวจได้มาก จำนวนการติดเชื้อที่รายงานก็น่าจะมากขึ้น
สาม การปฏิบัติตัวของประชาชนที่ใช้ Rapid antigen test ว่าถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ที่ต้องเตือนกันมากๆ คือ ให้ระวังผลลบปลอม เพราะความไวของชุดตรวจจะต่ำกว่าการตรวจมาตรฐานด้วย RT-PCR ดังนั้นหากเข้าใจผิด ตรวจได้ผลลบแล้วดี๊ด๊า เฮฮาปาร์ตี้ หรือไม่ป้องกันตัว ถ้าแจ๊คพอตติดเชื้อแต่ตรวจได้ผลลบปลอม ก็อาจแพร่ไปให้ผู้อื่นในบ้านและคนอื่นในสังคมได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องเน้นย้ำให้ความรู้ ทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างสม่ำเสมอและทั่วถึง
ด้านเศรษฐกิจ:
1.ทรัพยากรโดยรวมจะมีจำกัดลงตามลำดับ เมื่อมีการระบาดซ้ำมากครั้งขึ้น ดังนั้นอาจต้องทำการทบทวนนโยบายระดับชาติเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดซ้ำ ไม่รับความเสี่ยงโดยไม่จำเป็น
2. ข้อจำกัดเรื่องเศรษฐานะนี้ จะส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากขึ้นที่ต้องการความช่วยเหลือ ประคับประคอง หรือสนับสนุนในการดำรงชีวิตประจำวัน ทั้งเรื่องงาน เงิน อาหาร น้ำ หยูกยาจำเป็น และการดูแลสมาชิกในครอบครัว ดังนั้นระบบสวัสดิการสังคมจะมีบทบาทมากตั้งแต่บัดนี้ไป ทั้งนี้ภาครัฐอาจไม่สามารถช่วยดูแลแต่ฝ่ายเดียวได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากทางภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่แต่ละพื้นที่ด้วย
ด้านสังคม:
เด็กๆ เยาวชน นิสิตนักศึกษาจะเป็นกลุ่มที่ควรได้รับความดูแล ประคับประคอง ทั้งด้านการเรียนรู้ และสภาพจิตใจ เพราะระยะเวลาที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดนั้นยาวนาน ดังนั้นระบบการศึกษาทั้งระดับโรงเรียน และระดับอุดมศึกษา จำเป็นต้องได้รับการวางแผนระยะยาวไปอย่างน้อยเป็นปี เพื่อช่วยให้เด็กๆ เหล่านี้สามารถเรียนรู้ไปได้ตามอัตภาพ และหาทางลดผลกระทบทางจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเครียด ซึมเศร้า ต่อกระบวนการเรียนรู้ และระบบการประเมินผลทั้งระดับสถานศึกษา และระดับชาติด้วย
ขอให้เรามีพลังใจป้องกันตัวเองและครอบครัวอย่างเคร่งครัด มุ่งเป้าต้องไม่ติดเชื้อ
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทย วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
ติดเชื้อเพิ่ม 8,656 ราย
สะสมระลอกที่สาม 316,164 ราย
สะสมทั้งหมด 345,027 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม 80 ราย
สะสมระลอกที่สาม 2,697 ราย
สะสมทั้งหมด 2,791 ราย
หายป่วยกลับบ้าน 3,687 ราย
สะสม 224,232 ราย