วิธี "Home Isolation" เเยกกักตัวอยู่บ้าน ต้องทำอย่างไร (มีคลิป)

13 ก.ค. 2564 | 14:09 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ค. 2564 | 21:08 น.

จากวิกฤตเตียงไม่พอ ผู้ป่วยโควิด - 19 ที่เข้าข่าย “กักตัวที่บ้าน” หรือ Home Isolation ได้ จะต้องมีคุณสมบัติแบบไหน เเละจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ฐานเศรษฐกิจชวนมาหาคำตอบที่นี่

ตอนนี้สังคมเริ่มมีการพูดถึงการแยกกักตัวอยู่บ้าน หรือ “Home Isolation” กันมากขึ้น เพราะสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นประมาณเกือบแตะหลักหมื่น จนทำให้เตียงรองรับผู้ป่วยไม่เพียงพอ แถมยังส่งผลให้หลายคนที่ติดเชื้อไม่สามารถได้รับการเข้ารักษาได้ เพราะโรงพยาบาลหลายที่ก็อยู่ในสถานะวิกฤตจนไม่สามารถให้บริการได้ 

โดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า แนวทางนี้จะช่วยให้โรงพยาบาลสนาม สามารถบริหารจัดการเตียงให้กับผู้ป่วยที่มีอาการหนักได้ โดยให้กลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ สามารถกักตัวรักษาได้ที่บ้าน ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์และพยาบาล มีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้รวมถึงแนวทางใหม่ที่เริ่มนำร่องให้ ผู้ป่วยโควิดอาการน้อยกลับไปดูแลตัวเองที่บ้าน ต่อได้

“ฐานเศรษฐกิจ” ชวนดูว่าผู้ป่วยโควิดที่ต้องการแยกกักตัวที่บ้านต้องมีคุณสมบัติแบบไหนจึงจะสามารถ “แยกกักตัวที่บ้าน” หรือ Home Isolation ได้บ้าง ที่สำคัญต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง

กระทรวงสาธารณสุขได้ให้คำแนะและวิธีการไว้ดังต่อไปนี้

การทำ Home Isolation เจ้าหน้าที่จะมีการให้อุปกรณ์วัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนไปที่บ้านเพื่อวัดค่าต่างๆ มีแพทย์ติดตามอาการทุกวันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง มีการส่งอาหารและน้ำให้วันละ 3 มื้อ หากอาการทรุดจะส่งรถไปรับมารักษาตัวที่โรงพยาบาล

ผู้ป่วยโควิดต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง ถึงจะสามารถ “กักตัวที่บ้าน” ได้

1. ต้องเป็นผู้ติดเชื้อที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ที่ไม่มีการแสดงอาการ และมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงปกติ

2. อยู่ที่บ้านคนเดียว หรือมีผู้พักร่วมไม่เกิน 1 คน

3. ไม่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกิน 90 กิโลกรัม

4. ไม่มีอาการป่วยหรือโรคที่เกี่ยวกับปอดหรือหัวใจ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคไตเรื้อรัง (CKD) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่นๆ ตามความเห็นแพทย์

5. นอกจากนี้ ผู้ป่วยต้องยินยอมที่จะแยกตัวในที่พักของตนเองอย่างเคร่งครัด

ผู้ป่วยโควิดที่“กักตัวที่บ้าน” จะต้อง “ปฏิบัติตัว” อย่างไร

- ห้ามให้ใครมาเยี่ยมเยียนที่บ้านเลยแม้แต่คนเดียวในช่วงที่กักตัว

- ห้ามผู้ป่วยเข้าใกล้และสัมผัส ผู้สูงอายุและเด็ดอย่างเด็ดขาด โดยรักษาระยะห่างอย่างต่ำ 2 เมตร

- เป็นไปได้ให้แยกของใช้ส่วนตัวของตนเองกับผู้อื่นทุกอย่าง รวมถึงห้องน้ำและที่เปลี่ยนเสื้อผ้าด้วย รวมถึงห้องที่พักอาศัยควรที่จะเปิดโล่งให้อากาศถ่ายเทด้วย

- ไม่ทานอาการร่วมกับคนอื่นๆ เลย ควรทานอยู่คนเดียว หากเลี่ยงไม่ได้ ผู้ป่วยต้องรักษาระยะห่างอย่างต่ำ 2 เมตร

- สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ออกจากห้องนอน-ห้องพักผ่อน

- ทำความสะอาดมือของตนเองด้วยสบู่และเจลแอลกอฮอล์สม่ำเสมอ

- แยกถังซักเสื้อผ้าและสิ่งที่ต้องสวมใส่ทั้งหมดจากคนอื่นในบ้าน รวมถึงเครื่องนอน และโถสุขภัณฑ์ที่บ้านด้วย (หากเลี่ยงไม่ใช้ร่วมกันไม่ได้ ให้ปิดฝาโถก่อนกดน้ำทำความสะอาด)

- หมั่นสังเกตอาการตนเองทุกวัน และวัดอุณหภุมิสม่ำเสมอ

- หากมีอาการเหนื่อยหอบ ไข้สูง ไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างปกติให้รีบติดต่อโรงพยาบาลที่ท่านรับการรักษา

- หากต้องเดินทางไปโรงพยาบาลให้ใช้รถส่วนตัว ไม่เหมาะสมที่จะใช้รถสาธารณะ

- ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เดินทางอยู่ข้างนอกบ้าน

สำหรับผู้ติดเชื้อที่ต้องการร่วมโครงการ ติดต่อได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วน 1330

ก่อนหน้านี้ทางกรมการแพทย์ได้เตรียมการทำ Home isolation มาตั้งแต่เดือน เม.ย. แต่เพราะตอนนั้นเตียงยังมีเพียงพอ แต่พอมาถึงตอนนี้สถานการณ์แย่ลง

การทำ Home isolation มีข้อเสีย 2 ข้อหลัก ๆ

  1. คนไข้เมื่ออยู่บ้านแล้วภาวะเสี่ยงเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นแดงสุขภาพแย่ลงจะส่งผลกับคนไข้  กรณีอยู่บ้านคนเดียว หากสุขภาพแย่ลง และไม่มีคนดูแล ไม่มีใครทราบ อาจเกิดอันตรายและเสี่ยงเสียชีวิต
  2. การที่ไม่สามารถแยก (Isolate) ตัวเองกับญาติพี่น้อง จะแพร่เชื้อให้ญาติ สู่ชุมชน

เพราะฉะนั้นต้องป้องกัน 2 เรื่องนี้คือ ไม่ให้คนไข้แย่ลงจึงต้องลงทะเบียน ให้อุปกรณ์ไปที่บ้าน ปรอทวัดไข้ ที่วัดออกซิเจนในกระแสเลือด สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ให้เงินกับโรงพยาบาลอีก 1 พันบาทต่อคนต่อวัน  ส่งอาหาร 3 มื้อ แพทย์ติดต่อกับผู้ป่วยตลอด 14 วันกักตัว

Home Isolation และ Community Isolation ดำเนินการได้เมื่อไหร่  นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มีการดำเนินการไปแล้ว ทั้งส่วนรพ. และเพจต่างๆ ในการรวบรวมข้อมูล ส่วนการประเมิน ร่วมกันหลายฝ่าย ทั้งตัวคนไข้จะทราบว่า ดีขึ้นหรือไม่ หากมีภาคประชาสังคมก็จะช่วย รวมทั้งจากการวิดีโอคอล เราก็ถามคนไข้ก่อนให้ประเมินตัวเอง และทางหมอพยาบาลก็ร่วมด้วยในการประเมิน นอกเหนือจากนั้นหากค่าออกซิเจนลดตามเกณฑ์กำหนดก็จะมีระบบส่งต่อ ส่วนกรณี Community Isolation ขณะนี้มีทำไปแล้วที่วัดสะพาน ส่วนการประเมินจะมีคนกลางมาช่วย อาจเป็นอาสาสมัครของกทม.เป็นผู้ประเมินร่วมกับคนไข้ และจะมีทีมแพทย์ประเมินผ่านเทเลเมดิซีน ดังนั้น ผู้ประเมินจะมีทั้งผู้ป่วย ทีมแพทย์พยาบาล และอาสาสมัคร