จากกรณีเมื่อวานที่ผ่านมา (13 ก.ค.64) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบ "มาตรการเยียวยาโควิด" ล่าสุด เพื่อช่วยเหลือ "ผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 รวมทั้งแรงงานนอกระบบ อาชีพอิสระ ผู้ประกอบการ-กิจการ-ร้านค้า และประชาชนทั่วไป ที่ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดศบค.ฯ ฉบับที่ 27 ที่มี ประกาศเคอร์ฟิว มาตรการล็อกดาวน์ ในพื้นที่ 10 จังหวัดสีแดงเข้ม หรือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
“ดร.นณริฏ พิศลยบุตร” นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งสนใจศึกษาวิจัยโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ถือเป็นความพยายามของรัฐบาลในการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาการยกระดับมาตรการที่เข้มข้นขึ้นเพื่อให้ตรงจุดมากขึ้น ด้วยการกำหนดพื้นที่ก็มีความสอดคล้องกับพื้นที่ที่ระบาดและถูกควบคุม กิจการที่ได้รับผลกระทรบก็ถูกระบุไว้ทั้ง 9 สาขาอาชีพ
“มาตรการลดค่าครองชีพคิดว่าดีและเหมาะสมกับสถานการณ์ จากที่ดูภาคบริการหรือ Service sector ก็น่าจะตรงกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ เงื่อนไขการให้เงินเยียวยาในฝั่งแรงงาน มีการกำหนดว่าต้องเข้าระบบ คือ ม.33 39 40 ทำให้ช่วยสกีนคนที่เดือดร้อนจริงๆ จาก ม.33 ได้ดี แต่ ม.39 และ 40 ที่ต้องลงทะเบียนใหม่จะเกิดเป็นต้นทุน และอาจจะมีคนที่เข้าไม่ถึงพอสมควร เพราะความยุ่งยาก ลำบาก ด้วยการระบาดของโรค และความล่าช้าของรัฐกว่าจะลงทะเบียน อนุมัติและให้การช่วยเหลือ”
ดร.นณริฏ กล่าวเพิ่มเติมว่ามาตรการเยียวยาดังกล่าวยังมีจุดด้อย คือเรื่องกลุ่มคนเปราะบาง โดยส่วนตัวคิดว่าควรมีมาตรการสนับสนุนนคนที่ประสบปัญหาวิกฤติในช่วงโควิดผ่านฐานข้อมูลที่มีอยู่เดิม เช่น นักเรียนยากจน (กสค) บัตรคนจน ผู้สูงอายุ คนพิการ เป็นต้น
“อยากให้เพิ่มเงินอุดหนุนกับกลุ่มคนที่เปราะบางที่อยู่ในพื้นที่ระบาดด้วย อาจจะพิจารณาเป็น 200 ต่อวัน ตกเดือนละ 5,000 บาทต่อคน ให้ 1 เดือน”
สำหรับประเด็นการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวที่เกิดขึ้น ดร.นณริฏ มองว่าเป็นการควบคุมที่จำเป็น แต่ยังไม่แน่ใจว่าต้องใช้เวลายาวนานเท่าไหร่ เพราะไทยต่อสู้กับการระบาดรอบนี้ ซึ่งเรียกได้ว่ารุนแรงกว่าระลอกอื่นๆ จนกว่าจะมีวัคซีนและเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ไทยคงต้องต่อสู้กับการแพร่ระบาดแบบเปิดๆ ปิดๆ แบบนี้ไปอีกระยะหนึ่ง