"วัคซีนโควิด" หมอธีระแนะ ศบค. เปลี่ยนนโยบายการฉีดเลิกแนวคิดสลับชนิด

16 ก.ค. 2564 | 01:37 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ค. 2564 | 08:36 น.

หมอธีระแนะ ศบค. เปลี่ยนนโยบายวัคซีน เร่งหาชนิด nRNA มาใช้เป็นวัคซีนหลักของประเทศ พร้อมยุติแนวคิดฉีดสลับชนิดวัคซีน เหตุะยังมีข้อถกเถียงเชิงวิชาการอย่างมากในเรื่องชนิดวัคซีนที่ใช้

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
สถานการณ์ทั่วโลก 16 กรกฎาคม 2564 อินโดนีเซียมีจำนวนติดเพิ่มรายวันสูงที่สุดในโลกแล้ว เมื่อวาน 56,757 คน เสียชีวิตเพิ่มเฉียดพันคน ในขณะที่สหราชอาณาจักร ระลอกสี่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ติดเพิ่มกว่า 48,000 คน
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 543,638 คน รวมแล้วตอนนี้ 189,685,582 คน ตายเพิ่มอีก 8,178 คน ยอดตายรวม 4,082,297 คน
5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ อินโดนีเซีย บราซิล สหราชอาณาจักร อินเดีย และสหรัฐอเมริกา
อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 32,383 คน รวม 34,882,209 คน ตายเพิ่ม 318 คน ยอดเสียชีวิตรวม 624,172 คน อัตราตาย 1.8% 
อินเดีย ติดเพิ่ม 39,072 คน รวม 31,025,875 คน ตายเพิ่ม 1,444 คน ยอดเสียชีวิตรวม 412,563 คน อัตราตาย 1.3% 
บราซิล ติดเพิ่ม 52,789 คน รวม 19,262,518 คน ตายเพิ่มถึง 1,470 คน ยอดเสียชีวิตรวม 538,942 คน อัตราตาย 2.8% 
รัสเซีย ติดเพิ่ม 25,293 คน รวม 5,882,295 คน ตายเพิ่ม 791 คน ยอดเสียชีวิตรวม 146,069 คน อัตราตาย 2.5% 
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 3,617 คน ยอดรวม 5,833,341 คน ตายเพิ่ม 16 คน ยอดเสียชีวิตรวม 111,429 คน อัตราตาย 1.9%
อันดับ 6-10 เป็น ตุรกี สหราชอาณาจักร อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และอิตาลี ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น 
ระลอกสี่ของสหราชอาณาจักรเป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้เราทราบว่า การกดระลอกสามในช่วงปลายปีก่อนและต้นปีที่ผ่านมาได้นั้น มาจาก"มาตรการล็อคดาวน์" มิใช่เป็นผลหลักโดยตรงจากวัคซีน แม้ปัจจุบันประชากรอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปของสหราชอาณาจักรได้ฉีดไปครบ 2 โดสแล้ว 67.1% และฉีดเข็มแรกไป 87.5% ก็ตาม ดังนั้นจึงควรเข้าใจหลักการและความรู้ด้านสาธารณสุขอย่างถูกต้อง การจำกัดการเคลื่อนที่ยังจำเป็นอย่างยิ่งยามที่ระบาดหนัก เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ ทำในสิ่งที่ควรทำ 
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย อย่างชิลี เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล ญี่ปุ่น เมียนมาร์ เกาหลีใต้ เวียดนาม และมาเลเซีย ติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น 
เกาหลีใต้เกินพันมาติดกันเป็นวันที่ 9 ล่าสุด 1,600 คน ส่วนมาเลเซีย หยุดไม่อยู่ จำนวนติดเชื้อสูงมากถึง 13,215 คน ตายเพิ่มกว่าร้อยคน ในขณะที่เวียดนามทำลายสถิติเดิมอย่างต่อเนื่อง ติดเชื้อสูงถึง 3,416 คน คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 15 ของโลก

แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน 
แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ในขณะที่อิหร่านติดเพิ่มเกินสองหมื่นอย่างต่อเนื่อง

วัคซีนโควิด-19
กัมพูชา และลาว ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ไต้หวัน สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่นิวซีแลนด์ติดเพื่มต่ำกว่าสิบ
ลาวนั้นติดเพิ่ม 116 คน สูงสุดเท่าที่เคยระบาดมา
สถานการณ์การระบาดทั่วโลกมีจำนวนการติดเชื้อสูงขึ้นชัดเจน เป็นการระบาดระลอกใหม่ที่กำลังไต่ระดับความรุนแรงขึ้นจากสายพันธุ์เดลต้า
สำหรับสถานการณ์ระบาดของไทยเรา ล่าสุดมีจำนวนติดเชื้อสะสมมากเป็นอันดับ 59 ของโลก หากรวมยอดวันนี้จะแซงอุรุกวัยขึ้นเป็นอันดับ 58 ได้และจะแซงอีก 3 ประเทศคือ คอสตาริกา จอร์เจีย และคูเวตในวันถัดไป
วิเคราะห์สภาพแวดล้อม และระบบพื้นฐานที่จำเป็นต้องใช้ในการต่อสู้กับโรคระบาดในขณะนี้ จะพบว่าไทยเราน่าเป็นห่วง
หนึ่ง นโยบายเปิดเกาะ เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะมีความเสี่ยงในการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ กิจกรรมกิจการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นๆ จะมีโอกาสสูงที่จะทำให้การระบาดในชุมชนที่มีแฝงอยู่แต่เดิมทวีความรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้นคนในพื้นที่จึงต้องต้องการ์ดให้เข้มแข็ง
สอง ระบบการตรวจคัดกรองโรคแบบมาตรฐานยังไม่ทั่วถึงและไม่มากพอ ในขณะที่การใช้ rapid antigen test มีทั้งข้อดีข้อเสีย แม้จะทำให้ตรวจได้มากขึ้นและทำเองได้ แต่ผลกระทบเรื่องผลลบปลอมและราคาค่างวดที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยอาจไม่สามารถเข้าถึงได้เช่นกัน ดังนั้นโจทย์หลักยังคงเป็นเรื่องการทำอย่างไรให้คนไทยและต่างชาติทุกคนในประเทศสามารถเข้าถึงบริการตรวจได้สะดวก ไม่เสียค่าใช้จ่าย มีจุดบริการมากเพียงพอและครอบคลุมทุกพื้นที่ และไม่ติดกฎเกณฑ์ใดๆ
สาม ระบบการดูแลรักษา ภาวะวิกฤติเตียงล้นแม้จะใช้นโยบายกักตัวที่บ้านหรือกักตัวในชุมชนไป แต่คาดว่าจะชะลอหรือบรรเทาปัญหาไปได้ระยะหนึ่ง ทั้งนี้ด้วยจำนวนการติดเชื้อใหม่แต่ละวันสูงมาก ภาวะล้นในทุกที่ รอเตียง เสียชีวิตทั้งที่บ้าน ที่ชุมชน และที่สถานพยาบาล ก็จะยังคงอยู่หรือกลับเพิ่มขึ้นในอีกราว 3-6 สัปดาห์หากไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ ดังนั้นการพิจารณา Full national lockdown อย่างน้อย 4 สัปดาห์จึงยังมีความสำคัญมากและแข่งกับเวลา
สี่ "วัคซีน" ทั้งเรื่องแผน การดำเนินงาน ชนิด ปริมาณ และประสิทธิภาพของวัคซีน รวมถึงข้อกังขาเรื่องเหตุผลวิชาการและทัศนคติในการผลักดันนโยบายนั้นมีปัญหาอย่างเห็นได้ชัด และส่งผลให้ทุกภาคส่วนเริ่มออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนนโยบาย และกลไกการบริหารนโยบายและกลไกวิชาการที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นรัฐ/ศบค.จึงควรตระหนักถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะจัดการแก้ไขและปรับเปลี่ยน รวมถึงจัดตั้งกลไกการตรวจสอบการดำเนินงานตลอดช่วงที่ผ่านมา เพื่อสำแดงให้สาธารณะได้กระจ่างถึงรายละเอียด ความเป็นมา และแนวทางแก้ไขปัญหา
วัคซีนนั้นสำคัญมาก เพราะสถานะปัจจุบันน่าวิตก และจะส่งผลกระทบต่อการควบคุมป้องกันโรค การติดเชื้อ การเสียชีวิต และโอกาสในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

หมอธีระ ระบุอีกว่า ศบค.ควรประกาศเปลี่ยนนโยบายวัคซีน โดยมีแนวทางดังนี้
1. ทำทุกหนทางเพื่อมุ่งจัดหาวัคซีน mRNA มาใช้เป็นวัคซีนหลักของประเทศ โดยมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินการเองผ่านกลไกศบค.ที่มีอำนาจตามกฎหมาย ไม่ผ่านกลไกกระทรวง
2. เร่งจัดหาวัคซีนอื่นที่มีประสิทธิภาพสูง ได้แก่ Johnson&Johnson (Ad26 vector vaccine) ซึ่งมีข้อดีคือการฉีดเข็มเดียว และ Novavax (protein subunit vaccine) เข้ามาใช้ในประเทศโดยเร็ว
3. ในช่วงเวลารอวัคซีน mRNA จะใช้วัคซีนที่มีอยู่ โดยปรับมาใช้ Sinopharm เป็นวัคซีนหลักสำหรับประชาชนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ส่วน Astrazeneca นั้นจะใช้สำหรับประชาชนอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
4. ยุติแนวคิดการฉีดวัคซีนไขว้ เพราะยังมีข้อถกเถียงเชิงวิชาการอย่างมากในเรื่องชนิดวัคซีนที่ใช้ ปฏิกิริยาและผลไม่พึงประสงค์ รวมถึงเรื่องการยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิผลจริงในการป้องกันการติดเชื้อ หรือป้องกันการป่วยหรือการเสียชีวิต ดังนั้นจึงไม่สมควรนำมาใช้เป็นนโยบายสาธารณะที่อาจเกิดความเสี่ยงต่อประชาชนในสังคม ที่ควรทำคือการนำวัคซีนที่เป็นที่ยอมรับระดับสากลมาใช้โดยวิธีมาตรฐานเพื่อจัดการภาวะวิกฤตินี้
5. ปรับเปลี่ยนกลไกนโยบายและวิชาการ และประกาศให้ทราบว่า นโยบายและมาตรการทุกอย่างถัดจากวันนี้ไป จะใช้ความรู้ที่พิสูจน์ได้ ตรวจสอบได้ เป็นหลักในการตัดสินใจเสมอ พร้อมเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และแสดงออกซึ่งความพร้อมที่จะรับผิดชอบ
สำหรับประชาชนอย่างพวกเราทุกคน ขอให้ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ใส่หน้ากากสำคัญมาก สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมตัวเลขการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทยวันที่ 28 ก.พ.- 14 ก.ค. 64 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีการฉีดสะสมจำนวน 13,533,717 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 10,163,340 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 3,370,377  ราย