"ประกันสังคม"เปิดสิทธิประโยชน์"ม.33" ได้เงินเยียวยาโควิดอะไรบ้าง

20 ก.ค. 2564 | 07:05 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ค. 2564 | 17:37 น.

ประกันสังคม แจงสิทธิประโยชน์และขั้นตอนผู้ประกันตนมาตรา33 ที่จะได้รับเงินเยียวยาล็อกดาวน์ 2 รูปแบบ คือ เงินเยียวยาที่มาจากรัฐบาล และเงินชดเชยรายได้ 50% ที่มาจากประกันสังคม

วันนี้ (20 ก.ค.64) นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ โฆษกสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยถึงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน และการทำความเข้าใจกรณีเงินเยียวยาที่ถูกต้อง ที่จะนำมาเยียวยากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

กรณีของผู้ประกันตน มาตรา 33 จะได้รับเงินเยียวยา 2 รูปแบบ คือ

 

(1) เงินเยียวยาที่มาจากรัฐบาล

(2) เงินชดเชยรายได้ 50% ที่มาจากประกันสังคม

ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 จะได้รับเงินเยียวยา แบ่งเป็น 2 รูปแบบ โดยแบบแรกคือจะได้รับการเยียวยาจากรัฐ คือ เงินเยียวยา 2,500 บาท ซึ่งตรงนี้เป็นเงินจากรัฐบาล ไม่ใช่เงินจากประกันสังคม โดยลูกจ้างสามารถเข้าไปเช็คสิทธิได้ที่ www.sso.go.th คลิกไปที่ ตรวจสอบสิทธิ ผู้ประกันตน มาตรา 33 แล้วกรอกเลขบัตรประชาชนลงไป ก็สามารถเช็คได้เลย
 

นอกจากนี้ ยังมี "ข้อควรรู้สำหรับลูกจ้าง" หรือ "ผู้ประกันตน มาตรา 33" ที่ต้องรู้เกี่ยวกับการรับเงินเยียวยาทั้ง 2 รูปแบบ ทั้งจากรัฐบาล และจากประกันสังคม ดังนี้
 

1. เงินเยียวยา 2,500 บาท รับผ่านบัญชีพร้อมเพย์

สำหรับเงินเยียวยาพิเศษจากรัฐบาล จำนวน 2,500 บาท สำนักงานประกันสังคมมีฐานข้อมูลของผู้ประกันตน มาตรา 33 อยู่แล้ว จึงนำข้อมูลมาทำเป็นระบบตรวจสอบสิทธิให้ สามารถตรวจสอบสิทธิได้แล้ว เพียงแค่คีย์หมายเลขบัตรประชาชนเข้าไป ก็ตรวจสอบได้เลย

ส่วนช่องทางการรับเงินก้อนนี้ ลูกจ้างที่เช็คสิทธิแล้วพบว่าได้รับสิทธิ ขั้นตอนต่อไปให้ไปทำบัญชีพร้อมเพย์ โดยผูกกับเลขบัตรประชาชนเท่านั้น ไม่ใช่ผูกกับหมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งหากใครที่มีพร้อมเพย์อยู่แล้ว แต่ผูกกับหมายเลขโทรศัพท์เอาไว้ ก็สามารถไปที่ธนาคารที่ใช้บริการอยู่ เพื่อแจ้งแก้ไขการผูกบัญชีให้ใหม่ได้

2.เงื่อนไขการรับเงินเยียวยา 2,500 บาท

สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่จะได้เงินเยียวยา 2,500 บาทนี้ มีเงื่อนไข คือ

- จะต้องเป็นลูกจ้างสัญชาติไทยเท่านั้น

- ต้องอยู่ใน 10 จังหวัด 9 หมวดกิจการ/อาชีพที่ได้รับผลกระทบ

เมื่อระบบของประกันสังคมตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นผู้มีสิทธิได้เงินเยียวยาส่วนนี้ เงินจะถูกโอนไปให้ผ่านพร้อมเพย์ได้เลย ไม่ต้องทำขั้นตอนใดๆ อีก

3. เช็คสิทธิได้ตลอดเดือน ก.ค. 64

ในกรณีที่ลูกจ้างมั่นใจว่าตนเองอยู่ในกลุ่ม 9 อาชีพ แต่เมื่อเช็คแล้วกลับพบว่าไม่ได้รับสิทธิ นายนันทชัย กล่าวว่า ขณะนี้ประกันสังคมอยู่ระหว่างการปรับเพิ่มหมวดอาชีพเข้ามาในระบบ อาจต้องใช้เวลาสักระยะ ดังนั้นหลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันนี้ให้เข้าไปเช็คสิทธิใหม่ได้อีกครั้ง และสามารถเช็คสิทธิได้ตลอดเดือน ก.ค.64

4. เงินชดเชยจากประกันสังคม 50% คืออะไร?

"เงินชดเชย" หรือ "เงินทดแทนการขาดรายได้" ลูกจ้างจะได้รับเมื่อเกิดการว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย ซึ่งในที่นี้ก็คือ กิจการที่รัฐสั่งให้ปิด (ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในการควบคุมการระบาดโควิด-19) ลูกจ้างที่เข้าข่ายนี้ ก็จะได้สิทธินี้จากประกันสังคมโดยตรง โดยได้รับเงินชดเชย 50% ของฐานค่าจ้างที่นำส่งประกันสังคม แต่สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท โดยผู้ประกันตน มาตรา 33 บางส่วนก็จะได้เงินชดเชยตรงนี้ด้วย ที่บอกว่าบางส่วนก็เพราะมีเงื่อนไขที่ต้องนำมาพิจารณาคัดกรอง ดังนี้

  •  เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่มีสัญชาติไทย และอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ใน 10 จังหวัด และ 9 กลุ่มอาชีพ
  • ผู้ประกันตน ม.33 ที่จะได้สิทธินี้ จะต้องถูกเลิกจ้างในกรณีที่กิจการนั้นๆ ถูกรัฐสั่งให้ปิด ก็คือไปทำงานไม่ได้ ก็จะได้รับเงินชดเชย 50% ของฐานเงินเดือนที่นำส่งประกันสังคม แต่ไม่เกิน 7,500 บาทต่อคน
  • ต้องส่งเงินประกันสังคมอย่างน้อย 6 เดือน ภายใน 15 เดือนนับย้อนหลังไป อันนี้เป็นเงื่อนไขของการเกิดสิทธินี้ ซึ่งผู้ประกันตนสามารถเช็คดูได้
  •  สิทธินี้ให้เฉพาะลูกจ้าง มาตรา 33 ที่ถูกหยุดจ้างงาน ก็คือไม่ได้รับเงินเดือนจากนายจ้าง
  •  แต่ถ้านายจ้างไม่ได้หยุดจ้าง ก็จะไม่ได้เงินชดเชยตรงนี้ แต่ยังคงได้เงิน 2,500 บาทจากรัฐบาลที่จัดสรรมาช่วยเหลือเพิ่มเติมที่เรียกว่าเงินเยียวยา
  • กรณีบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งรัฐบาลนายจ้างต้องขึ้นทะเบียน e-service เพื่อแจ้งว่าไม่สามารถจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างตามมาตรา 33 โดยระบุให้ชัดเจนว่าลูกจ้างมีกี่คนและหยุดงานตั้งแต่วันใดถึงวันใด

ส่วนลูกจ้างมีหน้าที่กรอกแบบสปส. 2-01/7 และแนบสมุดบัญชีออมทรัพย์ส่งให้นายจ้างรวบรวมเพื่อนำส่งสำนักงานประกันสังคมภายใน 3 วัน หลังจากที่ยายจ้างลงทะเบียน e-service แล้วเพื่อจะได้รับเงินโดยเร็วซึ่งเงินกองทุนประกันสังคมจะจ่าย 50% (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) กรณีว่างงานสูงสุด 90 วัน ทั้งคนไทยและต่างชาติที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 รัฐบาลจะเพิ่มให้สบทบลูกจ้างสัญชาติไทยอีก 2,500 บาทต่อคน (รวมแล้วได้สูงสุด10,000บาท)