รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ข่าวดี วัคซีน mRNA ของจุฬาฯจะเสร็จสิ้นการทดลองเฟสหนึ่งในมนุษย์ เดือนกรกฎาคม 2564
จากสถานการณ์โควิดระบาดระลอกที่สาม มีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยกว่า 400,000 คน และเสียชีวิตเกือบ 4000 คนนั้น
ทำให้การควบคุมการระบาดเป็นไปด้วยความยากลำบากมาก เพราะ มาตรการ Lockdown (ล็อกดาวน์) จะกระทบกับวิถีชีวิตและมิติทางด้านเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
ส่วนความหวังของการที่จะคุมการระบาดให้ได้ นอกจากมาตรการล็อกดาวน์ซึ่งเป็นเรื่องชั่วคราวแล้ว จะต้องเน้นไปที่วัคซีน โดยเร่งฉีดให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่เร็วที่สุด จะเป็นคำตอบสำคัญในการควบคุมการระบาด
การที่วัคซีนขาดแคลนทั่วโลก ทำให้เกิดการแย่งชิง และจองซื้อวัคซีนล่วงหน้าข้ามปี พร้อมเสี่ยงวางเงินมัดจำที่จะไม่ได้คืนถ้าวัคซีนล้มเหลว รวมทั้งจะได้วัคซีนไม่ตรงตามกำหนดเวลาอีกด้วย เป็นปัญหาอุปสรรคของทุกประเทศทั่วโลก ในการควบคุมโรคระบาด
การมีวัคซีนของไทยเราเอง จึงเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่จะทำให้การควบคุมการระบาดเป็นไปได้ตามที่เราต้องการ ขณะนี้ประเทศไทย มีวัคซีนที่อยู่ในขั้นก้าวหน้าอย่างน้อย 4 ชนิดด้วยกัน ได้แก่
ทีมวิจัย คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ
1) เทคโนโลยี mRNA ของคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2) เทคโนโลยีเชื้อตาย ขององค์การเภสัชกรรมร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ
3) เทคโนโลยีโปรตีนเป็นฐาน ของบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม สตาร์ทอัพของคณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4) เทคโนโลยี DNA ของบริษัทไบโอเนทเอเชีย ร่วมกับมหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย (U.of Sydney และ U.of Adelaide)
วันนี้เราจะมาติดตามข่าวดี และความคืบหน้าของวัคซีนเทคโนโลยี mRNA ของคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์วิจัยวัคซีนของคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ เป็นหน่วยงานสำคัญในการพัฒนาวัคซีนซึ่งใช้ชื่อว่า ChulaCov19
เริ่มต้นจากศาสตราจารย์นายแพทย์เกียรติ รักรุ่งธรรม ไปศึกษาและทำวิจัยต่อที่ต่างประเทศ และได้พบกับคุณหมอนักวิจัยที่สำคัญคือ Professor Drew Weissman มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก ซึ่งคาดว่าจะได้รับการเสนอชื่อให้รับรางวัลโนเบล จากเป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยี mRNA
ด้วยความใกล้ชิดสนิทสนมกับคุณหมอเกียรติและคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเป็นที่มา ของการเริ่มพัฒนาวัคซีนของจุฬาฯ ดังกล่าว โดยได้ผ่านการทดลองในหนูและในลิงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล ร่วมกับงบประมาณของคณะแพทยศาสตร์จุฬาเอง รวมทั้งเงินบริจาค ทำให้มีความคืบหน้า จนเข้าสู่การทดลองในมนุษย์ โดยได้เริ่มทดลองเฟสหนึ่งในอาสาสมัคร 72 คน (14 มิถุนายน 2564)
แบ่งเป็นอายุ 18-55 ปี 36 คน และอายุ 65-75 ปี 36 คน
โดยเป็นการทดสอบหาขนาดวัคซีนที่เหมาะสมกับคนไทย ระหว่าง 10 , 25 และ 50 ไมโครกรัม เปรียบเทียบกับวัคซีนของ Pfizer ที่ขนาด 30 ไมโครกรัมและ Moderna ที่ 100 ไมโครกรัม
การสรุปผลวิจัยเฟสหนึ่งจะเสร็จสิ้นในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ และจะเริ่มวิจัยเฟสสองต่อเนื่องกันไปในเดือนสิงหาคม คาดว่าจะจบการวิจัยได้ในปลายเดือนตุลาคม
ใช้อาสาสมัครจำนวน 150-300 คน ซึ่งมีผู้มาแจ้งความจำนงแล้วจำนวนกว่า 25,000 คน โดยที่จะมีการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันถ้าพบว่าสูงเกินกว่า 80 หน่วยสากล ก็จะทำให้ประสบความสำเร็จ
จุดเด่นที่สำคัญของวัคซีนจุฬาฯคือ จะสามารถเก็บที่อุณหภูมิตู้เย็น 2-8 องศาเซลเซียส ได้นานถึงสามเดือนในขณะที่วัคซีนของ Moderna เก็บได้เพียงหนึ่งเดือน และวัคซีนของ Pfizer เก็บได้เพียงหนึ่งสัปดาห์ ทำให้ วัคซีนของจุฬาฯ มีความสะดวกสำหรับประเทศในเขตร้อนเช่น ประเทศไทย สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการเก็บในตู้เย็นติดลบ และเกิดความมั่นใจในคุณภาพระหว่างขนส่งไปฉีดตามจังหวัดต่างๆต่อไป
นอกจากนั้นยังได้เร่งพัฒนาวัคซีนรุ่นที่สอง เพื่อรองรับไวรัสกลายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์อัลฟา เบต้า หรือเดลตา
โดยทำการวิจัยคู่ขนานกันไป จะเริ่มทดสอบได้ในไตรมาสที่สี่ปี 2564 นี้ ถ้าองค์การอนามัยโลก (WHO) เห็นชอบให้กำหนดระดับภูมิต้านทานที่มากกว่า 120 หน่วยสากล แล้วไม่ต้องทดสอบเฟสสาม ก็จะทำให้เราฉีดวัคซีนได้ในปลายปีนี้เลย
แต่ถ้าต้องวิจัยเฟสสาม ก็จะมีวัคซีนฉีดในต้นปีหน้า
ส่วนวัคซีนรุ่นที่สอง ซึ่งรองรับไวรัสกลายพันธุ์ ก็จะตามหลังวัคซีนรุ่นที่หนึ่งภายในเวลา 3-6 เดือนต่อไป โดยโรงงานผลิตจะเป็นโรงงานในประเทศไทยเราเอง ที่จังหวัดอยุธยา
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมตัวเลขการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทย วันที่ 28 ก.พ.-19 ก.ค. 64 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีการฉีดสะสมจำนวน 14,547,244 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 11,067,518 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 3,479,726 ราย