23 ก.ค.2564 ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดี ด้านการพัฒนานิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อนิสิตจุฬาฯ และการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยซึ่งจัดในรูปแบบออนไลน์แนวทางที่กำหนดไว้เดิมไม่น่าเพียงพอต่อการบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น มหาวิทยาลัยเล็งเห็นว่าการปรับลดค่าเล่าเรียนเพิ่มขึ้นจะช่วยผ่อนคลายความเดือดร้อนของนิสิตได้มากยิ่งขึ้นและมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงกำลังเร่งหารือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาฯ เป็นประธาน เร่งรัดขับเคลื่อนการพิจารณาลดค่าเทอมเพิ่มขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาให้นิสิตในสถานการณ์ดังกล่าว โดยจะได้ประกาศผลการปรับการลดค่าเทอมเพิ่มให้ทราบในสัปดาห์หน้า
โดยในช่วงที่ผ่านมาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ออกนโยบาย 10++ เรื่อยมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 โดยจัดโครงการต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนิสิต หนึ่งในนั้นคือการปรับลดค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาบางส่วนและเสริมสวัสดิการอื่น ๆ ให้นิสิตทุกคณะ ทุกหลักสูตร ทุกชั้นปี
ทั้งนี้ ก่อนหน้า (21 ก.ค.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ออกมาระบุว่า ล่าสุดมีมาตรการช่วยเหลือผู้ปกครองและนิสิต - นักศึกษา ในช่วงสถานการณ์โควิด โดยแบ่งเป็น
1.สถาบันอุดมศึกษาภาครัฐจะลดค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา โดยกำหนดเป็น 3 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 ส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ลดค่าเล่าเรียน/ ค่าธรรมเนียมการศึกษา 50% ,ขั้นที่ 2 ส่วนตั้งแต่ 50,001 – 100,000 บาท ลด 30% และขั้นที่ 3 ส่วนตั้งแต่ 100,001 บาทขึ้นไป ลด 10% โดยรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณสำหรับส่วนลดนี้ 60% และสถาบันอุดมศึกษาสมทบ 40%
2.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน รัฐบาลจะสนับสนุนลดค่าเล่าเรียน/ ค่าธรรมเนียมการศึกษาคนละ 5,000 บาท และให้ทางสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแต่ละแห่งพิจารณาลดค่าเล่าเรียนเพิ่มเติมและสนับสนุนมาตรการอื่นๆ เช่น ขยายเวลาผ่อนชำระหรือผ่อนจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษา ตั้งกองทุนสนับสนุนการศึกษา จัดหาอุปกรณ์/ โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับนักศึกษายืมเพื่อใช้ในศึกษาออนไลน์ ส่วนลดค่าหอพักนักศึกษา จัดสวัสดิการพิเศษกรณีนักศึกษาป่วยด้วยโรคโควิด-19 เป็นต้น
"มาตรการนี้จะเริ่มใช้ทันทีในภาคศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2564 โดยจะมีนิสิต นักศึกษาที่ได้รับประโยชน์เป็นจำนวนถึง 1,750,109 คน"