รายงานข่าวระบุว่า นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC) โดยมีข้อความระบุว่า
การบริหารจัดการวัคซีนที่มีในปัจจุบัน วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส ซิโนแวค 19 ล้านโดส และไฟเซอร์ 20 ล้านโดสที่จะมาในไตรมาสที่ 4 ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ด้วยการแนะนำให้มีการสลับชนิดกัน โดยใช้วัคซีนซิโนแวคเข็มแรกตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 2 ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ โดยอ้างว่าจะทำให้ภูมิต้านทานสูงขึ้นเร็วภายในเวลา 6 สัปดาห์ เพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา เพราะถ้าให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มห่างกัน 12 สัปดาห์ กว่าภูมิต้านทานจะขึ้นสูงต้องใช้เวลา 12 สัปดาห์ ช่วงที่รออาจเป็นช่วงอันตราย
ส่วนตัวผมกลับเห็นตรงข้าม วัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนเชื้อตาย กลไกการทำงานหลักๆ คือกระตุ้นภูมิต้านทานแอนติบอดี้ให้สูงขึ้น เพื่อจับไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์ของเรา
ในชีวิตจริงเรามีข้อมูล วัคซีนซิโนแวคเข็มแรกเข็มเดียวไม่ช่วยลดการป่วยหนักเข้านอนโรงพยาบาล ไม่ลดการเสียชีวิต ช่วงเวลา 4 สัปดาห์แรกหลังฉีดซิโนแวคหากคนสูงอายุและคนที่มีโรคประจำตัวติดเชื้อ ถือเป็นช่วงอันตราย
ต่างจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าซึ่งเป็นวัคซีน Adenovirus vector ดีกว่าวัคซีนเชื้อตายซิโนแวค นอกจากจะกระตุ้นภูมิต้านทานแอนติบอดี้ให้สูงขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดภูมิคุ้มกันชนิดที่เราเรียกว่าเม็ดเลือดขาว T cell เพื่อกำจัดเซลล์ที่เชื้อไวรัสเข้าไปแบ่งตัวในเซลล์ของเรา มีข้อมูลในชีวิตจริง วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าหลังฉีดเข็มแรก 3 สัปดาห์เริ่มมีประสิทธิภาพ สามารถลดการติดเชื้อและการแพร่เชื้อได้บ้าง ลดการติดเชื้อแบบมีอาการได้บ้าง แต่ลดการป่วยหนักเข้านอนโรงพยาบาลและลดการเสียชีวิตได้ดี ในประเทศที่มีวัคซีนเพียงพอ เขาแนะนำให้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเข็ม 1 กับเข็ม 2 ห่างกัน 8 สัปดาห์ แต่ในประเทศที่มีภาวะวัคซีนขาดแคลน สามารถฉีดห่างกว่านั้นได้หลายเดือนตามคำแนะนำของบริษัทแอลตร้าเซนเนก้าเอง
ประเทศไทยควรให้วัคซีนซิโนแวค 2 เข็มในคนที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง คนอายุน้อยกว่า 60 ปี ไม่มีโรคประจำตัว สำหรับคนสูงอายุและคนที่มีโรคประจำตัว ยังต้องให้วัคซีนเข็มแรกเป็นแอสตร้าเซนเนก้าเหมือนเดิม
ประเทศไทยกำลังดำเนินการฉีดวัคซีนแบบผสม วัคซีนซิโนแวคตามด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าโดยไม่มีผลการทดลองทางคลินิกรองรับ
นอกจากนั้นช่วง 3-4 สัปดาห์แรกหลังฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรก ก่อนที่จะฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 เป็นช่วงอันตรายสำหรับคนสูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัวหากติดเชื้อไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 24 กรฏาคม 64 จากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า
มียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นรวม 14,260 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13,605 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 655 ราย ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 453,104 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 119 ราย หายป่วยเพิ่ม 7,637 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 300,363 ราย