"หมอเฉลิมชัย" แนะเกาะติดไวรัส Lambda ห่วงเข้าไทยแพร่ระบาดเร็วเหมือนเดลตา

24 ก.ค. 2564 | 03:19 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ค. 2564 | 10:18 น.

หมอเฉลิมชัย แนะเกาะติดไวรัส Lambda จากเปรู ห่วงเข้าไทยเชื้อแพร่กระจายเร็วเหมือนสายพันธุ์เดลตา จนกลายเป็นสายพันธุ์หลัก เพื่อจะได้เตรียมมาตรการรองรับการแพร่ระบาดให้ดีที่สุดต่อไป

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า 
ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ไวรัสใหม่ล่าสุดตัวเก่งจากเปรู ไวรัส Lambda กำลังแพร่กระจายตามหลังไวรัสเดลต้ามาติดติด
โควิด-19 เป็นอีกหนึ่งวิกฤตการณ์ครั้งร้ายแรงในรอบศตวรรษของมนุษยชาติ ช่วงเวลาเพียงหนึ่งปีเจ็ดเดือน มีการแพร่ระบาดไปแล้วกว่า 200 ประเทศทั่วโลก
วันที่ 22 ก.ค. 2564 พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 192 ล้านคน เสียชีวิตมากกว่า 4 ล้านคน ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางด้านสาธารณสุข สังคม และเศรษฐกิจมากมายมหาศาล เราจะสามารถรับมือวิกฤติครั้งนี้ได้ดีมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจในองค์ประกอบหลักที่สำคัญของโควิด หรือโรคระบาดไวรัสโคโรนาดังนี้
1.ตัวไวรัสก่อโรค
2.วัคซีน
3.ยารักษา
4.มาตรการอื่นๆที่จำเป็นในการควบคุมโรค
วันนี้จะกล่าวเฉพาะประเด็นตัวไวรัสเองว่า จะต้องพิจารณา 3 คุณลักษณะสำคัญ จึงจะสามารถคาดคะเนได้ว่า ไวรัสตัวไหนจะครองโลก และในช่วงเวลาใด ตลอดจนจะมีผลกระทบต่อการติดเชื้อ การเสียชีวิต และวัคซีนมากน้อยเพียงใด
คุณลักษณะสำคัญสามประการได้แก่
1.ความสามารถในการแพร่ระบาด (Transmissibility)
2.ความรุนแรงในการทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย (Virulence in Clinical Disease)
3.ความสามารถในการดื้อต่อวัคซีนและมาตรการอื่นๆ ( Effectiveness to Public Health Measure)

นับตั้งแต่มีการระบาดของโควิดเมื่อเดือนธันวาคม 2562 โดยเป็นไวรัสสายพันธุ์หลักเดิมหรือสายพันธุ์อู่ฮั่นประเทศจีน เมื่อเวลาผ่านมาหนึ่งปีเศษ ได้มีการกลายพันธุ์ของไวรัสไปแล้วกว่า 39 สายพันธุ์  ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติของไวรัสสารพันธุกรรมเดี่ยวหรืออาร์เอ็นเอ(RNA) ที่จะมีการกลายพันธุ์บ่อยและง่าย
โดยการจัดลำดับความสำคัญของไวรัส ที่กระทบต่อการระบาด แบ่งเป็นสามกลุ่มได้แก่
1.กลุ่มไวรัสที่น่าเป็นกังวล (Variant of Concern : VOC ) มีสี่สายพันธุ์ คืออัลฟ่า เบต้า แกมมา และเดลต้า

จับตาไวรัส Lambda
2.ไวรัสที่ต้องให้ความสนใจ (Variant of Interest : VOI ) มีเจ็ดสายพันธุ์
3.ไวรัสที่จะต้องติดตามเพื่อหาข้อมูลต่อไป ( Alerts for Further Monitoring)
ในกลุ่มของ VOC ไวรัสตัวที่แพร่ได้เร็วและกว้างขวางที่สุดในขณะนี้คือไวรัสสายพันธุ์เดลต้า และไวรัสตัวที่ดื้อต่อวัคซีนมากที่สุดคือสายพันธุ์เบต้า
ส่วนในกลุ่มของ VOI ไวรัสตัวที่เป็นชั้นนำ และมีแนวโน้มจะได้ขยับเลื่อนชั้นขึ้นมาเป็น VOC คือไวรัสสายพันธุ์แลมป์ด้า และทำท่าจะแซงไวรัสรุ่นพี่เก่าคือ สายพันธุ์เดลต้าและเบต้าได้อีกด้วย
จึงสมควรที่จะต้องมาทำความเข้าใจและเรียนรู้เกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์แลมป์ด้าตัวใหม่นี้ เพื่อให้มีความรู้พื้นฐานเพียงพอ ที่จะติดตามข้อมูลข่าวสาร เรื่องเกี่ยวกับโควิด-19  การระบาด การควบคุมโรค การล็อกดาวน์ การใช้วัคซีนกระตุ้น และการฉีดวัคซีนรุ่นที่สองต่อไป
ไวรัสแลมป์ด้า มีรหัสเดิมคือ C.37 พบครั้งแรกที่ประเทศเปรู ทวีปอเมริกาใต้ เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 แพร่ไปแล้วมากกว่า 29 ประเทศ คือเกือบทุกประเทศในทวีปอเมริกาใต้ และประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน แคนาดา และอิสราเอล เป็นต้น
เฉพาะในประเทศเปรูเอง จากเดือนธันวาคม 2563 พบไวรัสแลมป์ด้าเพียง 0.5% ของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ปัจจุบันเดือนกรกฎาคม 2564 พบไวรัสแลมด้าถึง 90% มีการแพร่อย่างรวดเร็วมากในเวลาเพียง 7 เดือน ปัจจุบัน เปรูซึ่งมีไวรัสแลมป์ด้าเป็นสายพันธุ์หลัก มีอัตราการเสียชีวิตที่สูงที่สุดในโลก
โดยมีอัตราผู้เสียชีวิตต่อจำนวนผู้ติดเชื้อมากถึง 9.32% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยอัตราการเสียชีวิตทั่วโลกอยู่ที่ 2% เปรูมีผู้เสียชีวิต 195,429 ราย จากจำนวนผู้ติดเชื้อ 2.09 ล้านราย สำหรับประเทศที่มีประชากร 33.45 ล้านคน ต้องถือว่าสูงมาก ส่วนหนึ่งน่าจะมีปัจจัยมาจากไวรัสสายพันธุ์แลมป์ด้า ซึ่งแน่นอนย่อมมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย สำหรับการเสียชีวิตมากดังกล่าว
อัตราการเสียชีวิตของเปรูถือว่าสูงมาก คิดเป็น 5842 รายต่อประชากรล้านคน เมื่อเทียบกับ
บราซิล 2548 ราย
อังกฤษ 1888 ราย
สหรัฐอเมริกา 1879 ราย
อินเดีย 301 ราย
และไทย 53 ราย
เมื่อคิดต่อประชากรล้านคน ในประเทศอาร์เจนตินา มีไวรัสแลมป์ด้าแล้ว 37%  ชิลี 32%
โดยองค์การอนามัยโลก ได้ประกาศให้ไวรัสสายพันธุ์แลมด้าเป็น VOI ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 โดยพิจารณาจากสามหลักการสำคัญที่ได้กล่าวไปแล้ว

ในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งมีประชากรเพียง 8% ของประชากรโลก แต่ติดโควิดไปแล้ว 20% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก และเสียชีวิตไปมากถึง 32% ซึ่งคิดเป็นความรุนแรงของการติดเชื้อ 2.5 เท่าของค่าเฉลี่ยโลก และอัตราการเสียชีวิตสูงเป็น 4 เท่าของค่าเฉลี่ยโลก
การมีไวรัสกลายพันธุ์ที่เป็นลักษณะเด่นของทวีปอเมริกาใต้ คือสายพันธุ์แกมมาหรือบราซิลเดิม และสายพันธุ์แลมป์ด้าหรือเปรู มีรายงานวิจัยหลายรายงาน ที่ยังไม่ได้มีขนาดตัวอย่างที่มากพอและตีพิมพ์เผยแพร่ เนื่องจากมีข้อจำกัด เรื่องทรัพยากรของทวีปอเมริกาใต้ ในการที่จะถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ ให้มีจำนวนมากเพียงพอ เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง และต้องใช้อุปกรณ์ที่มีความยุ่งยาก
พบว่าไวรัสแลมป์ด้า มีความสามารถในการแพร่เชื้อเร็วและกว้างขวางเป็นสองเท่าของไวรัสกลุ่ม VOC และไม่น้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า จึงมีโอกาสที่จะแพร่ขยายเป็นสายพันธุ์หลักของโลกได้ในอนาคต ไวรัสแลมป์ด้า มีการดื้อต่อวัคซีนและรบกวนระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ด้วย 
ในเบื้องต้นพบว่า ทำให้ผู้ที่ฉีดวัคซีน Pfizer Moderna และ Sinovac สร้างภูมิคุ้มกันได้ลดลง เรื่องความรุนแรงของโรคยังไม่ชัดเจนว่า เพิ่มขึ้นจากเดิมมากน้อยอย่างไร
ไวรัสสายพันธุ์แลมป์ด้า มีการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรม (Gene Mutation) มากถึง 14 ตำแหน่ง และส่วนใหญ่อยู่ในตำแหน่ง ซึ่งจะสร้างโปรตีนไปประกอบเป็นส่วนหนามหรือเอสโปรตีน (S-Protein) ซึ่งใช้ในการเกาะเซลล์มนุษย์ มีตำแหน่งที่สำคัญมากหนึ่งตำแหน่งคือ มีการหายไปของกรดอะมิโน (Amino acid) ยาวถึงเจ็ดตัวด้วยกันอยู่แถว NTD (N-Terminal ) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งดังกล่าว พบในไวรัส ทั้งอัลฟ่า เบต้า และแกมม่า ตำแหน่งของการสร้างโปรตีนดังกล่าวนี้เอง ทำให้ไวรัสสามารถเพิ่มจำนวนได้รวดเร็วขึ้น และสู้กับภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้ดีขึ้น
ตำแหน่งที่สำคัญอีกตำแหน่งของไวรัสแลมป์ด้าคือ ตำแหน่งที่ 452 เปลี่ยนจาก L เป็น Q ( L452Q ) ทำให้มีการแพร่ระบาดที่เร็วและติดง่าย เช่นเดียวกับสายพันธุ์เดลต้าซึ่งเปลี่ยนที่ตำแหน่ง 452 เช่นกัน มีผลกระทบ ทำให้ลดการสร้างของภูมิคุ้มกันชนิดทำลายไวรัส (NAb) ด้วย และยังมีการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่ง 490 ซึ่งจะมีผลกระทบทำให้มนุษย์สร้างภูมิคุ้มกันต่อสู้กับไวรัสได้น้อยลง และยังเพิ่มความสามารถในการติดเชื้อได้มากขึ้น

ไวรัส  Lambda  แพร่กระจายตามติดสายพันธุ์เดลตา
กล่าวโดยสรุป
1.ไวรัสสายพันธุ์แลมป์ด้า ถูกจัดให้อยู่ใน VOI และพร้อมที่จะขยับขึ้นมา VOC ตลอดเวลา
2.มีการแพร่ระบาดที่กว้างขวางรวดเร็วมากในทวีปอเมริกาใต้
3.ร่วมกับปัจจัยอื่นแล้ว ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนที่สูงมาก โดยเฉพาะในประเทศเปรู มีผู้เสียชีวิตสูงสุดในโลก (เมื่อคิดเป็นร้อยละของจำนวนผู้ติดเชื้อ)
4.มีแนวโน้มที่จะดื้อต่อวัคซีน
เราจึงต้องติดตาม และให้ความสนใจไวรัสสายพันธุ์แลมป์ด้า เพราะอาจจะเกิดกรณีทำนองเดียวกับไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ที่เข้ามาสู่ประเทศไทยแล้ว กลายเป็นสายพันธุ์หลักในเวลาอันรวดเร็ว จะได้เตรียมมาตรการต่างๆเพื่อรองรับการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์แลมป์ด้าให้ดีที่สุดต่อไป
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมตัวเลขสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 24 กรกฎาคม 64 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
ติดเชื้อเพิ่ม             14,260 ราย
ติดในระบบ            9714 ราย
ติดจากตรวจเชิงรุก 3879 ราย
ติดในเรือนจำ         655 ราย
ติดในสถานกักตัว  12 ราย
สะสมระลอกที่สาม 453,104 ราย
สะสมทั้งหมด         481,967 ราย
รักษาตัวอยู่            150,248 ราย
โรงพยาบาลหลัก   86,045 ราย
โรงพยาบาลสนาม 64,203 ราย
อาการหนัก               4099 ราย
ใช้เครื่องช่วยหายใจ 939 ราย
กลับบ้านได้ 7637 ราย
สะสม          328,008 ราย
เสียชีวิตเพิ่ม          119 ราย
สะสมระลอกที่สาม 3836 ราย
สะสมทั้งหมด         3930 ราย