จากกรณี นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เหตุใดจึงมี อบจ.เพียง 38 จังหวัดเท่านั้นที่ทำแผนขอวัคซีน จึงขอให้นายกฯ อบจ.อื่นๆ และพ่อเมือง ช่วยเร่งรีบดำเนินการทำแผนขอรับวัคซีนจาก สภากาชาดไทย โดยด่วนที่สุด ซึ่งไม่ทราบว่าวัคซีนจะมีจำนวนเพียงพอหรือไม่
ขณะนี้มีคำถามจากประชาชนว่า เหตุใดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และผู้ว่าราชการจังหวัดที่ไม่มีรายชื่อตามประกาศของสภากาชาดไทย จึงไม่เร่งรีบเสนอแผนให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาของสภากาชาดไทย เพราะทุกวินาที คือ ความเป็นความตายของประชาชนทั่วประเทศตามที่ได้เห็นกันอยู่ในขณะนี้ นี่คือปัญหาเร่งด่วนที่สุด เพราะประเทศกำลังเผชิญหน้ากับมฤตยู "โควิด-19" ยิ่งกว่ามหาภัยพิบัติใดๆที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ ประชาชนต้องการวัคซีน
แหล่งข่าวสภากาชาดไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ไม่ต้องงง! การที่อบจ.ไหน จะซื้อวัคซีนหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นกับผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)เท่านั้น และ การซื้อหรือไม่ซื้อวัคซีนหรือจะไปทำโครงการพัฒนาในพื้นที่ อบจ.นั้นขึ้นอยู่กับงบประมาณของแต่ละ อบจ.และการพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติของ สภา อบจ.นั้นๆ
สภากาชาดไทยทำหน้าที่เพียงเป็นช่องทางหนึ่งในการอำนวยความสะดวกให้กับ อบจ.ซึ่ง องค์กรปกครองท้องถิ่น ที่เพิ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงได้นำวัคซีนไปฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่โดยตรงเพราะราคาที่ สภากาชาดไทยได้รับจาก อบจ.ในราคาโดสละ 1,100 บาทเป็นราคาเดียวกับที่องค์การเภสัชกรรมคิดจากสภากาชาดไทย ขณะที่ โรงพยาบาลเอกชน ราคาเดียว เข็มละ 1,650 บาท