วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เนื่องในวันวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564
สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ระบุว่า ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564 สมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 และมาตรา 179 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมาตรา 261 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2517 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2564”
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป)
มาตรา 17 ให้กระทรวงยุติธรรมหรือกระทรวงกลาโหม แล้วแต่กรณี ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน้าที่และอำนาจติดตาม ดูแล และช่วยเหลือผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ เพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้้ำ
มาตรา 18 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งท้องที่ ผู้พิพากษาศาลแห่งท้องที่หรือตุลาการ ศาลทหารแห่งท้องที่หนึ่งคน และพนักงานอัยการแห่งท้องที่หรืออัยการทหารแห่งท้องที่หนึ่งคน รวมสามคนเป็นคณะกรรมการ มีหน้าที่ตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษและส่งรายชื่อต่อศาลแห่งท้องที่ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับเพื่อความสะดวกแก่ศาลแห่งท้องที่นั้นพิจารณาออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษหรือออกคำสั่งยกเลิกการทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ แล้วแต่กรณี
ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ซึ่งถูกลงโทษจำคุกตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ให้คณะกรรมการมีหน้าที่ตรวจสอบและส่งรายชื่อต่อนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เพื่อนายกรัฐมนตรีพิจารณาออกคำสั่งปล่อยหรือลดโทษ แล้วแต่กรณี
เมื่อได้มีหมายหรือคำสั่งปล่อยหรือลดโทษ หรือคำสั่งยกเลิกการทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับแล้ว ให้คณะกรรมการทำบัญชีผู้ซึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษเก็บไว้ที่เรือนจำหรือทัณฑสถานหนึ่งฉบับ ส่งศาลหนึ่งฉบับ ส่งกระทรวงยุติธรรมหนึ่งฉบับ และทูลเกล้าฯถวายอีกหนึ่งฉบับ
ถ้าการแต่งตั้งกรรมการบางคนอาจทำให้เกิดความไม่สะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการตามที่เห็นสมควรเป็นกรรมการแทนได้
ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นกรรมการ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด
มาตรา 19 ในส่วนที่เกี่ยวกับนักโทษตามกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งข้าราชการเป็นคณะกรรมการตามที่เห็นสมควร มีหน้าที่ตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษและส่งรายชื่อต่อศาลทหารกรุงเทพ หรือศาลมณฑลทหาร แล้วแต่กรณีให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เพื่อความสะดวกแก่ศาลทหารดังกล่าวพิจารณาออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษ หรือออกคำสั่งยกเลิกการทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ แล้วแต่กรณี
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับจำนวนผู้ต้องราชทัณฑ์หรือผู้ต้องขังในปัจุบันของกรมราชทัณฑ์ (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 1 ก.ค. 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 307,007 ราย แยกเป็นผู้ต้องขังชายจำนวน 270,599 ราย และผู้ต้องขังหญิง 36,408 ราย (ตามตารางประกอบข่าว)
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ ฉบับเต็ม