รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เปิดเผยว่า โครงการ “กัญนคร@ราชมงคลอีสาน” เกิดขึ้นจากความสำเร็จของการปลูกและการวิจัยกัญชา กัญชง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนากัญชา กัญชง และสมุนไพร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
ซึ่งดำเนินงานภายใต้นโยบายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านอาหารและสุขภาพที่ได้รับมอบหมายจากสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ทำให้เกิดเป็นโครงการ “กัญนคร@ราชมงคลอีสาน” ซึ่งจะเป็นมิติใหม่ของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่
เพื่อเพิ่มมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน มาเป็นที่ปรึกษามหาวิทยาลัย และร่วมขับเคลื่อนโครงการครั้งนี้เพื่อตอบสนองนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์
โครงการกัญนคร@ราชมงคลอีสานเป็นความร่วมมือระหว่าง มทร.อีสานกับวิสาหกิจชุมชนในแต่ละจังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนและกำกับดูแลการปลูกพืชกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วย และการวิจัยพัฒนาเพื่อต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์
โครงการนี้ มทร.อีสาน จะร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชน จำนวน 10 กลุ่ม ต่อ 1 แปลง เพื่อร่วมกันปลูกกัญชา จำนวน 1,000 ต้น (ต่อ 1 รอบการปลูก) โดยใช้ต้นแบบจากวิทยาเขตสกลนคร และขยายโครงการไปยังพื้นที่ในทุกวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย
ได้แก่ ศูนย์กลางนครราชสีมา วิทยาเขตสุรินทร์ วิทยาเขตขอนแก่น และวิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยกำหนดเป้าหมายวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์การเกษตรที่จะเข้าร่วมโครงการ จำนวน 100-200 กลุ่ม ต่อพื้นที่ ซึ่งหากดำเนินงานได้ตามเป้าจะมีวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมมากกว่า 1,000 กลุ่ม
เป็นความตั้งใจของ มทร.อีสาน ที่ต้องการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากพืชกัญชาในทางการแพทย์ และต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ให้คนในชุมชน รวมถึงเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการให้ประชาชน
มีความรู้ความเข้าใจและสามารถเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชาได้อย่างถูกต้อง สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของภาครัฐที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนด้วยการพัฒนากัญชา กัญชง สู่การเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่
รศ.ดร.โฆษิต กล่าวต่อว่า โครงการกัญนคร@ราชมงคลอีสานนั้น ได้รับการตอบรับและสนับสนุนที่ดีมาก ทั้งนี้เพราะเรามีผลการดำเนินงานเชิงประจักษ์ ณ วิทยาเขตสกลนครมาแล้ว โดยเราเริ่มต้นตั้งแต่การสร้างผู้ประกอบการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอย่างครบวงจร เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต
และสร้างรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ และ SMEs ทำให้เราได้รับความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดสกลนครในการขับเคลื่อนโครงการให้เกิดเป็นรูปธรรมได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะขยายขอบเขตการดำเนินงานไปยังพื้นที่ต่าง ๆ โดยมีแต่ละวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยจะเป็นหน่วยประสานงาน
เบื้องต้นได้กำหนดกรอบการเข้าร่วมดำเนินโครงการ ดังนี้
1. การกำหนดคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มสหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ที่อยู่ในพื้นที่แต่ละจังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น สุรินทร์ ร้อยเอ็ด และสกลนคร
2. กำหนดคณะกรรมการพิจารณาผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด รองอธิการบดีประจำวิทยาเขต เกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด
3. องค์การบริหารจังหวัด และ มทร. ประชาสัมพันธ์และรับสมัครวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มสหกรณ์การเกษตร ที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ
4. วิทยาเขตในแต่ละพื้นที่ จัดเตรียมสถานที่และจับคู่แหล่งทุนสนับสนุนการดำเนินโครงการ ภายใต้เงื่อนไขของมหาวิทยาลัยฯ