จากกรณีรถไฟขบวนพิเศษโควิด-19 เดินทางจากสถานีรถไฟรังสิตเพื่อส่งผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว จำนวน 135 ราย ไปยัง 7 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
มีการปรับสภาพภายในตู้โดยสารเพื่อรองรับการเดินทาง ประกอบด้วย อุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ เครื่องออกซิเจน ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ห้องน้ำ เครื่องปรับอากาศ อาหาร พร้อมทีมบุคลากร แพทย์ พยาบาล นักปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ประสานงาน รวม 10 คนให้การดูแลผู้ป่วยตลอดการเดินทาง
เมื่อถึงปลายทางแต่ละจังหวัดจะมีทีมสาธารณสุขในพื้นที่รับส่งต่อเพื่อนำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษา พร้อมทำความสะอาดตู้โดยสารเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ ทุกขั้นตอนตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข
ผู้ป่วยโควิดที่ต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนามี 3 ขั้นตอน
ทั้งนี้ ระหว่างการส่งผู้ป่วยโดยรถขบวนพิเศษ จะมีเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข ไปกับขบวนรถ เพื่อดูแลผู้ป่วย และความเรียบร้อยในขบวนรถ มีการแยกกลุ่มผู้ป่วยที่ชัดเจน เช่น กรณีของ รฟท.จะมีการแยกโบกี้ระหว่างผู้ป่วยกลุ่มยืนยันด้วยผลตรวจ RT PCR positive กับกลุ่มผลตรวจ ATK positive เพื่อป้องกันกรณีที่ผู้มีผลตรวจ ATK positive คลาดเคลื่อนมาปะปนกับผู้ที่ผลตรวจชัดเจนแล้ว และก่อนออกเดินทาง สพฉ. จะมีการประเมินอาการของผู้ป่วยทุกรายก่อนให้ออกเดินทาง
“ขอให้มั่นใจ เราไม่สามารถทอดทิ้งผู้ป่วยได้ จะทำสุดความสามารถให้ผู้ป่วยทุกคนเข้าถึงระบบการรักษา อย่าหลงเชื่อข่าวใดๆ เพราะการนำประชาชนกลับภูมิลำเนานี้ อยู่ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์และกระทรวงสาธารณสุข เมื่อไปถึงจังหวัดต่างๆ จะมีรถพยาบาลฉุกเฉินมารับที่สถานีและนำส่งสถานพยาบาลทันที ไม่มีการแวะพัก ขอให้สบายใจได้” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีเเละรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว.