ตรวจโควิด-19 Rapid Antigen Test Kit แล้วต้องไปไหนต่อ ที่นี่มีคำตอบ

28 ก.ค. 2564 | 21:00 น.

กระทรวงสาธารณสุข อนุญาตให้ประชาชนสามารถซื้อชุดตรวจ Rapid Antigen Test Kit ตรวจเองที่บ้านได้ หลายคนอาจสงสัยว่าเมื่อตรวจ ATK ด้วยตนเอง หากพบ “ผลบวก” ต้องทำอย่างไร

หลังจากที่ กระทรวงสาธารณสุข อนุญาตให้ประชาชนสามารถซื้อชุดตรวจ Antigen Test Kit ตรวจเองที่บ้านได้ แต่ต้องซื้อในร้านจำหน่ายที่ถูกต้อง และเลือกใช้ให้ถูกประเภท และตรวจอย่างถูกวิธี เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตผลิต นำเข้าชุดตรวจสำหรับ COVID-19 ประเภท Rapid Test แบบตรวจหา Antigen

สำหรับใช้โดยประชาชนทั่วไป (Home use) จำนวน 8 ยี่ห้อ และรูปแบบการใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น (Professional Use Only) มีจำนวน 32 ยี่ห้อ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า  Rapid test ATK ที่ดีต้อง มีความไว 100% ไม่หลุด แต่ไม่มีเช่นนั้นในขณะนี้

ดังนั้น ชุดตรวจที่ใช้ขณะนี้ ต้องเข้าใจว่าถ้าได้ผลเป็นลบ อย่าพึ่งดีใจว่าไม่มีไวรัส โดยเฉพาะถ้ามีอาการด้วย ยิ่งต้องระวังใหญ่และอาจต้องตรวจซ้ำไปเรื่อย พรือพยายามเข้าหาการตรวจจริง

แต่ถ้าได้เป็นผลบวก โอกาสที่มีไวรัสจริงจะสูงมาก แม้ว่าอาจจะได้ผลบวกปลอมอยู่บ้างก็ตามโดยต้องยืนยันซ้ำ

หวังว่าการตรวจไวเหล่านี้ จะเข้าถึงทางบ้านได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือน้อยที่สุดเช่น 30 บาท อย่างในต่างประเทศ ที่รัฐออกให้ เพื่อเป็นการระงับการแพร่ระบาด

หลายคนอาจสงสัยว่าเมื่อตรวจ Antigen Test Kit หรือ ATK ด้วยตนเอง หากพบ “ผลบวก” ต้องทำอย่างไร ฐานเศรษฐกิจจึงรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาตอบคำถามนี้

  1. เมื่อตรวจด้วย ATK พบผลเป็นบวกให้โทรศัพท์ไปลงทะเบียนที่หมายเลข 1330 กด 14 หรือลงทะเบียนผ่าน QR Code https://www.facebook.com/.../a.12679760.../4233697093363481/ กรอกข้อมูลทางเว็บไซต์ของ สปสช. จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับเพื่อสอบทวนข้อมูล
  2. Antigen Test Kit สามารถตรวจได้ที่สถานพยาบาล เช่น จุดตรวจเชิงรุก โรงพยาบาล คลินิก หรืออาจหาซื้อมาตรวจเองที่บ้าน หากพบผลเป็นบวก (ติดเชื้อ) มีโอกาสผิดพลาด 3-5% ทำให้ยังเข้าโรงพยาบาลไปนอนรวมกับผู้ติดเชื้อไม่ได้ เพราะหากผลผิดพลาดจะทำให้คนที่ไม่มีเชื้อติดเชื้อเพิ่มทันที ส่วนผู้ที่ผลเป็นลบและสงสัยอาการอยู่ก็ต้องทำซ้ำ 3-5 วันภายหลัง
  3. การตรวจด้วย ATK เมื่อได้ผลบวก สามารถลงทะเบียนและแยกกักที่บ้านได้ทันที โดยต้องอยู่ห้องนอนคนเดียว ใช้ห้องน้ำคนเดียว แยกอยู่แยกกินแยกนอน ต้องแยกหมด ถ้าแยกห้องน้ำไม่ได้ให้ใช้เป็นคนสุดท้าย
  4. สปสช. จะสนับสนุนให้เงินกับโรงพยาบาลที่ดูแล ในการจัดส่งอาหาร 3 มื้อถึงบ้าน เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และยาที่จำเป็น หากเริ่มมีอาการหรือมีโรคประจำตัวทางการแพทย์แนะนำให้เริ่มฟาวิพิราเวียร์ให้เร็วที่สุด ซึ่งจะมีการส่งยาให้ที่บ้าน หรือหากอยู่บ้านไม่ได้ ต้องเข้าการแยกกักในชุมชน (Community Isolation : CI) จะให้ลงชื่อในใบยินยอมรับการรักษา และนำตัวไปที่ CI ศูนย์พักคอย ฮอสปิเทล หรือโรงพยาบาล มีความจำเป็นจะต้องตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซ้ำ ระหว่างรอผล จะมีการแยกผู้ติดเชื้อที่ตรวจด้วย ATK ออกมา เพื่อความปลอดภัยและความรวดเร็วในการรักษา

ตรวจโควิด-19 Rapid Antigen Test Kit แล้วต้องไปไหนต่อ ที่นี่มีคำตอบ

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ชุดตรวจเร็ว (Antigen Test Kit : ATK) ที่วางขายอยู่ ในท้องตลาดขณะนี้มีหลายชนิด คุณภาพแตกต่างกัน บางชนิดความไวความจำเพาะอาจไม่ถึง 90% แนะนำให้ใช้ชุดตรวจที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับรอง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ใช้ ให้ผลร้อยละ 95 ขึ้นไป

สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์ ขณะนี้มีสต๊อกเกือบ 10 ล้านเม็ด และจะทยอยเข้ามาในเดือนสิงหาคม และกันยายน เดือนละ 40 ล้านเม็ด และกรมการแพทย์ได้ทำระบบโรงพยาบาลเสมือนจริง (Virtual Hospital) นำผู้ป่วยจากระบบ 1668 มาขึ้นทะเบียนดูแลที่บ้าน หากมีอาการจะส่งยาฟาวิพิราเวียร์ไปให้ ถ้าสบายดีไม่มีโรคร่วม อาจกินยาฟ้าทะลายโจร และเมื่อเริ่มมีอาการจะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ทันที หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวแต่ไม่มีอาการให้อยู่ในดุลยพินิจแพทย์ เพื่อป้องกันอาการสีเขียวเป็นสีเหลือง

กรณีผลตรวจแบบเร็ว ATK เป็นบวกสามารถเข้าระบบกักตัวที่บ้านได้ทันทีโดยไม่ต้องไปตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR

ขณะนี้ สปสช. ได้ให้บริการตรวจคัดกรองด้วย ATK ที่ลานจอดรถ  ชั้น 1 อาคาร B ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ วันละประมาณ 2,500 ราย หากผลตรวจเป็นบวกจะบันทึกเข้าไปอยู่ในฐานข้อมูล Home Isolation Database

ข้อมูลล่าสุดมีผู้ป่วยสะสมประมาณ 37,000 ราย เป็นรายใหม่วันนี้ 2,843 ราย จากนั้นจะมีการจับคู่ผู้ติดเชื้อกับคลินิกหรือศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้านในการรับดูแล ขณะนี้ได้จับคู่ไปแล้ว 35,511 ราย สำหรับรายที่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ จะแยกกักในชุมชนหรือโรงพยาบาลซึ่งต้องมีการตรวจยืนยันซ้ำด้วยวิธี RT-PCR ขณะที่แยกกักตัว การแยกกักตัวที่บ้าน/ชุมชนมีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว  ไม่มีอาการหรืออาการน้อย มีอายุไม่เกิน 60 ปี ไม่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค หรือมีภาวะอ้วน หรือผู้ป่วยนอนที่โรงพยาบาลเกิน 10 วัน และอาการดีขึ้นแล้วสามารถกักตัวที่บ้านได้