นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่างถึงความคืบหน้ากรณีวัคซีนไฟเซอร์ 1.54 ล้านโดส กำหนดการเครื่องบินขนส่งวัคซีน จะออกเดินทางจากสหรัฐอเมริกาในวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 โดยคาดว่าจะถึงประเทศไทยในวันถัดไป
เบื้องต้นมีการตรวจสอบคุณภาพของวัคซีนล็อตดังกล่าวมาแล้ว เมื่อมาถึงก็สามารถตรวจสอบเอกสารต่างๆ ให้ครบถ้วนก่อนการกระจายลงพื้นที่
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือ วัคซีนไฟเซอร์ ต้องเก็บในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส เมื่อมาถึงจึงต้องรีบนำเข้าคลังที่มีอุณหภูมิตามกำหนด จากนั้นจะดูว่าต้องกระจายไปจังหวัดใดบ้าง
วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) 1.54 ล้านโดส จัดสรรให้ใครบ้าง
1. บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับภารกิจดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ทั่วประเทศ (เข็ม 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกัน) 700,000 โดส
2. ผู้มีภาวะเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด 19 ที่มีสัญชาติไทย 645,000 โดส
- ผู้สูงอายุ
- ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค อายุ 12 ปีขึ้นไป
- หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
3. ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุ และโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และผู้เดินทางไป ตปท. ที่จำเป็นต้องรับวัคซีน Pfizer เช่น นักการทูต นักศึกษา 150,000 โดส
4. ทำการศึกษาวิจัย (ได้รับการอนุมัติโดยคณะกรรมการวิจัยจริยธรรม) 5,000 โดส
5. สำรองส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ 40,000 โดส
นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กรณีวัคซีนโควิดไฟเซอร์ กล่าวว่า ข้อมูลเบื้องต้นที่บริษัท ไฟเซอร์ ได้แจ้งเข้ามาคือ วัคซีนไฟเซอร์จะต้องเก็บในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส เพื่อคงคุณภาพวัคซีน แต่หากเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาฯ จะมีอายุได้ 30 วัน
ดังนั้นจะต้องเก็บวัคซีนไว้ที่คลัง ทยอยเบิกแล้วกระจายไปในพื้นที่ ซึ่งต้องมั่นใจว่าเมื่อไปถึงแล้วจะต้องฉีดให้ทันภายใน 30 วัน ส่วนการทยอยส่งวัคซีนไปแต่ละจังหวัด ทางกรมควบคุมโรคมีระบบห่วงโซ่ความเย็น (Cold chain) ที่ได้มาตรฐานเพื่อคงคุณภาพวัคซีน
การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ล็อตดังกล่าว เป้าหมายที่สำคัญคือ การฉีดเป็นเข็มบูสเตอร์ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เฉพาะกลุ่มที่เป็นแพทย์ พยาบาลด่านหน้าในการรับมือกับผู้ป่วยโควิด-19 ก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจ ความปลอดภัยให้คนทำงานที่มีความเสี่ยงสัมผัสผู้ติดเชื้อในทุกวัน แต่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจซึ่งคาดว่ามีจำนวนมาก อย่างไรก็ตามขณะนี้ก็มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ส่วนหนึ่งสมัครใจรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นบูสเตอร์โดสไปแล้ว
ขณะนี้ได้ประสานให้ 77 จังหวัด เร่งสำรวจรายชื่อบุคลากรแพทย์ พยาบาลที่ทำงานด่านหน้ากลุ่มที่จำเป็นที่สุด ที่สมัครใจรับวัคซีนไฟเซอร์ ทั้งในโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน สรุปข้อมูลนำส่งมาให้กรมควบคุมโรค โดยจะมีการประชุมร่วมกันในเรื่องของจำนวนแต่ละจังหวัดในวันที่ 29 ก.ค. นี้ เพื่อเตรียมการกระจายวัคซีนไปตามจำนวน