รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความว่า
หากใครชื่นชอบการ์ตูนเณรน้อยเจ้าปัญญาในอดีต คงจำกันได้ถึงภาพติดตาท่าทางน่ารักน่าชังของอิ๊กคิวซังตัวเอกในเรื่อง ในยามที่ภาคการแพทย์และฝ่ายบริหารรัฐไม่สามารถดูแลประชาชนได้ทั่วถึง จำเป็นที่ประชาชนจะต้องเรียนรู้และดูแลรักษาตัวเองให้รอดพ้นจากปอดอักเสบโควิด ขอเริ่มซีรีส์ไขข้อข้องใจจากคำถามที่มักได้รับมาอยู่บ่อยๆ
ปุจฉา-วิสัชนา: ปอดอักเสบโควิดสำหรับประชาชน ตอนที่ 1
ปุจฉา: ปอดอักเสบโควิดพบได้มากน้อยแค่ไหนและมีความสำคัญอย่างไร
วิสัชนา: เชื้อไวรัสโคโรนา-2019 มีความชื่นชอบระบบการหายใจของมนุษย์เป็นพิเศษ โดยมีคุณสมบัติการทะลุทะลวงลงไปถึงแขนงหลอดลมฝอยและถุงลมปอดได้ง่าย ทำให้ผู้ติดเชื้อเกือบทั้งหมดเกิดปอดอักเสบมากบ้างน้อยบ้างตามแต่จะตรวจพบด้วยวิธีการใด แต่จะมีผู้ป่วยราว 50% เกิดปอดอักเสบที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยมี 5% ที่ปอดอักเสบรุนแรงจนถึงวิกฤต ทั้งนี้มีผู้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 2% ซึ่งนำไปสู่อัตราการเสียชีวิตที่ 1%
ปุจฉา: แล้วมันต่างจากปอดอักเสบจากเชื้อทั่วไปตรงไหน
วิสัชนา: เจ้าไวรัสตัวนี้นอกจากจะทำให้เกิดปอดอักเสบเช่นเดียวกับเชื้อโรคอื่นแล้ว มันยังมีลักษณะพิเศษที่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเราให้ทำงานอย่างรุนแรงเพื่อต่อต้านเชื้อไวรัสนี้ แม้เมื่อเทียบกันแล้วอาจจะไม่รุนแรงเท่ากับเชื้อโรคบางชนิด แต่เนื่องจากมันถูกกำจัดไปจากร่างกายมนุษย์ได้ยาก จึงทำให้ภาวะภูมิคุ้มกันมากเกินไปของร่างกายเรานี้แสดงออกอยู่เป็นเวลานานกว่าเชื้ออื่น ส่งผลให้มีการสูญเสียหน้าที่การทำงานของระบบการหายใจเป็นหลัก และตามมาด้วยการทำงานบกพร่องของระบบร่างกายอื่นตามมาได้ นอกจากนั้นเชื้อนี้ยังมีความสามารถในการรุกล้ำเส้นเลือดทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ทำให้เกิดปัญหาการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และเกิดการขาดเลือดของอวัยวะสำคัญๆ ตามมาได้
ปุจฉา: ระยะเวลาการเกิดปอดอักเสบยาวนานแค่ไหนและแพทย์รักษาอย่างไร
วิสัชนา: ในช่วงสัปดาห์แรกของการติดเชื้อ จะเกิดปอดอักเสบได้ตั้งแต่ 3-5 วันเป็นต้นไป ลักษณะจะคล้ายปอดอักเสบติดเชื้ออื่น เมื่อเข้าสัปดาห์ที่สองจะเกิดปอดอักเสบได้อีกระลอกจากภาวะภูมิคุ้มกันมากเกินไป ซึ่งมักจะมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและมีการเสียชีวิตตามมา และถ้าผ่านไปถึงสัปดาห์ที่สาม อาจเกิดปอดอักเสบอีกแบบหนึ่งจากการที่ร่างกายพยายามฟื้นฟูปอด ในผู้ป่วยแต่ละรายอาจเกิดปอดอักเสบชนิดคาบเกี่ยวกันได้ โดยที่เชื้อสายพันธุ์เดลตาจะทำให้เกิดปอดอักเสบทุกระยะเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์อัลฟา ดังนั้นแพทย์จึงมีหลักการรักษาคือ การให้ยาต้านไวรัสในช่วงแรก โดยพิจารณาให้ยารักษาสมดุลภูมิต้านทานของร่างกายร่วมด้วยในรายที่มีอาการรุนแรง และเมื่อเข้าระยะสุดท้ายจึงเป็นการให้ยาต้านการอักเสบร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพปอด ทั้งนี้ในระหว่างการรักษาทั้งสามระยะ สิ่งที่สำคัญคือการให้ออกซิเจนเมื่อมีข้อบ่งชี้ เริ่มจากออกซิเจนอัตราไหลต่ำ ตามด้วยออกซิเจนอัตราไหลสูง (ไฮโฟลว์) และสุดทางที่การใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่มีน้อยรายที่ได้ไปต่อด้วยการใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม (เอ็คโม)
สำหรับจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 (covid-19) ที่กำลังรักษาตัวอยู่วันที่ 29 กรกฏาคม 64 จากการรายงานของศูนย์ข้อมูลโควิด-19 (Covid-19) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า 185,976 ราย อยู่ในโรงพยาบาล 69,152 ราย อยู่ในโรงพยาบสาลสนาม 116,824 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 4,511 ราย ในจำนวนนี้ใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ 1,001 ราย