ภายหลังศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน เมื่อ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา มีการประชุมติดตามสถานการณ์ และมีมติขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือ พื้นที่สีแดงเข้ม จากเดิม 13 จังหวัด เพิ่มอีก 16 จังหวัด กลายเป็น 29 จังหวัด
ต่อมามีการออกข้อกําหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 30) เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย โดยสาระสำคัญของข้อกำหนดดังกล่าว ที่น่าจับตาคือมาตรการขยาย "ล็อกดาวน์"
พบเนื้อหาของข้อ 2 ในข้อกำหนดดังกล่าว กำหนด การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อการชะลอและลดแนวโน้มความรุนแรงของการระบาดที่จะเกิดขึ้นจากการประเมินสถานการณ์ของ ฝ่ายสาธารณสุข ซึ่งเห็นสมควรให้ดำเนินมาตรการเพื่อมุ่งจำกัดการเคลื่อนย้ายและการรวมกลุ่มของบุคคล ต่อเนื่องไป จึงกำหนดให้บรรดามาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ได้แก่
การลด และ จำกัดการเคลื่อนย้ายเดินทาง การห้ามออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น การขนส่งสาธารณะ การปฏิบัติงานของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนและมาตรการควบคุมบูรณาการเร่งด่วนสำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยง
รวมถึงบรรดามาตรการ หลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบได้กำหนดขึ้นภายใต้ข้อกำหนดดังกล่าวเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้ ยังคงใช้บังคับต่อเนื่องออกไป สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดทุกจังหวัด จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564
แต่ปรากฏว่า จากการแถลงข่าวของ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. เมื่อ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา มีความพยายามอธิบายให้เข้าใจว่ามาตรการขยาย “ล็อกดาวน์” จะเกิดขึ้นเพียง 14 วัน
“เบื้องต้นก็จะมีผลบังคับใช้ทันทีในวันอังคารนี้ และมีระยะ 14 วัน ก็จะมีการประเมินทบทวนในวันที่ 18 สิงหาคม แต่คงต้องเน้นย้ำ ขอความร่วมมืออย่างสูงสุด เชื่อว่าหลายภาคส่วน คงจะต้องมีความรู้สึกลำบากติดขัด โดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการโรงงาน แคมป์คนงาน แต่ถ้าเราร่วมมือกันอย่างเข้มข้น ข้อกำหนดนี้ก็จะสามารถผ่อนคลายได้หลัง 14 วัน แต่ต้องเผื่อใจไว้ด้วย ถ้าสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วงก็อาจจะมี ความเป็นไปได้ที่จะยืดจนถึง 31 สิงหาคม"
ระหว่าง ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ที่แถลงขยาย "ล็อกดาวน์" ออกไปอีก 14 วัน กับ ราชกิจจานุเบกษา ที่ระบุชัดเจนว่าขยายถึง 31 ส.ค. จึงเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความสับสนกับประชาชน และภาคส่วนต่างๆ
ต่อมา ในการแถลงถึงสถานการณ์โควิดวันนี้ (2 ส.ค.) พญ.อภิสมัย ยังได้ตอบข้อสงสัยของสื่อมวลชนอีกครั้ง ถึงการระยะเวลากานขยาย “ล็อกดาวน์” ว่า
“การประกาศให้ยึดตามตัวเลขที่ 31 สิงหาคม แต่เมื่อมีการออกข้อกำหนด ทีมศบค.จะมีการประชุมพิจารณาผลของการกำกับติดตามในระยะเวลา 2 สัปดาห์ก่อน นั่นก็คือ 18 สิงหาคม จะมีการพิจารณา หมายความว่า หากผลการกำกับติดตามมาตรการเป็นไปในทิศทางที่ดี ข้อกำหนดอาจจะสามารถผ่อนคลายได้ แต่กรณีที่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ยังค่อนข้างน่าเป็นห่วง ก็จะสามารถที่จะยืดได้ไปถึง 31 สิงหาคมได้" พญ.อภิสมัย ระบุ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ตอกย้ำ และเป็นไปตามนโยบายดังกล่าวที่ขยาย “ล็อกดาวน์” ถึง 31 ส.ค.คือ ประกาศกรุงเทพมหานคร(กทม.) ที่ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ลงนามคำสั่งประกาศ กทม.ฉบับที่ 39 ให้ปิดสถานที่ต่าง ๆ ถึง 31 ส.ค.64
โดยวันนี้ (2 ส.ค.64) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ลงนามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 39) มีเนื้อหาบางส่วนระบุว่า
สมควรปรับการบังคับใช้บางมาตรการต่อกลุ่มบุคคล สถานที่ และกิจการ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่ยังคงให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและกำกับติดตามการป้องกันและควบคุมโรคตามที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัดต่อไปด้วย
โดยขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กำหนดให้บรรดามาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 และมาตรการควบคุมบูรณาการเร่งด่วนสำหรับสถานที่ กิจการหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยง
รวมถึงบรรดามาตรการ หลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบได้กำหนดขึ้นภายใต้ข้อกำหนดดังกล่าวเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้ ยังคงใช้บังคับต่อเนื่องออกไปสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดทุกจังหวัด จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564
ให้ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลส์ หรือ สถานประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา โดยให้ดำเนินการได้เฉพาะการจำหน่ายในรูปแบบการสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านการบริการขนส่งอาหาร (Food Delivery Service) เท่านั้น
โดยไม่มีการจำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรงเพื่อลดการติดต่อระหว่างผู้จำหน่ายกับผู้บริโภคจำนวนหลายคนและต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2564 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง