เช็ควิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ ธปท.แนะขั้นตอนผูกบัญชี สรุปครบจบที่นี่

04 ส.ค. 2564 | 17:03 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ต.ค. 2564 | 21:35 น.

เช็ควิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์ผูกธนาคาร รับเงินเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 ธปท.แนะทุกขั้นตอนผูกบัญชีทุกธนาคาร ไม่ต้องไปสาขาเลี่ยงเชื้อโควิด สรุปครบจบที่นี่

วันนี้ 4 สิงหาคม เป็นวันแรกที่ สำนักงานประกันสังคม โอนเงินเยียวยาให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 โดยนายจ้างได้รับเงิน3000 บาทต่อคนจากจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ขณะที่ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่เชื้อโควิด ในพื้นที่สีแดงเข้มจำนวน 10 จังหวัด ได้รับเงินเยียวยา 2,500 บาทต่อคน สำหรับ 9 กลุ่มกิจการ

สำหรับการโอนเงินเยียวยานั้น สำนักงานประกันสังคม โอนเงินผ่านพร้อมเพย์เท่านั้นเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโควิด โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 สามารถผูกบัญชีพร้อมเพย์ด้วยบัตรประชาชนกับบัญชีของธนาคารได้ 1 บัญชี

ความคืบหน้าล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะเป็นหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันแนะวิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์กับธนาคารพาณิชย์ พร้อมทั้งแนะความหมาย “พร้อมเพย์” คืออะไร

พร้อมเพย์ : ลงทะเบียนให้พร้อม จบทุกปัญหาการเพย์ในช่วงโควิด

ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อาจทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ กับธนาคารมีอุปสรรคได้ ไม่ว่าจะเป็นการปิดให้บริการชั่วคราวในบางสาขา การกำหนดจำนวนคนผู้เข้าใช้บริการต่อรอบในสาขา ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่สะดวกและได้รับบริการล่าช้ากว่าสถานการณ์ปกติได้

 

นอกจากนี้ การรับสวัสดิการจากรัฐบาลจะง่ายขึ้นหากท่านมีบัญชีธนาคารที่ผูกพร้อมเพย์กับหมายเลขบัตรประชาชนแล้ว ไม่ว่าจะทำธุรกรรมใด จะโอน-รับ-จ่าย หรือรับเงินสวัสดิการจากรัฐบาลก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องเดินทางไปสาขาผ่านบริการที่เรียกว่า "พร้อมเพย์"

 

วันนี้เราจึงจะมาแนะนำวิธีการผูกพร้อมเพย์กับบัญชีเงินฝาก ซึ่งจะให้ทุกธุรกรรมทางการเงินสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ทำได้ง่าย ๆ เพียงปลายนิ้ว

พร้อมเพย์ (PromptPay) คืออะไร

พร้อมเพย์ คือ บริการโอนเงินและรับเงินที่จะทำให้ธุรกรรมทางการเงินสะดวกและง่ายขึ้น เพียงผูกบัญชีเงินฝากธนาคารที่ท่านมีกับหมายเลขอ้างอิง (proxy ID) เช่น หมายเลขบัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์มือถือ ดังนั้นแค่รู้หมายเลขบัตรประชาชน หรือจำหมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้รับโอนได้ ก็สามารถทำธุรกรรมได้เลย ไม่จำเป็นต้องจำหมายเลขบัญชีเงินฝากธนาคาร

 

ที่ผ่านมา พร้อมเพย์มีบริการต่อยอดอื่น ๆ ออกมาเป็นระยะ เช่น พร้อมเพย์ e-Wallet ซึ่งเป็นการผูกพร้อมเพย์กับเลขบัญชี e-Wallet ที่ช่วยให้การโอนเงินระหว่างบัญชีธนาคารและบัญชี e-Wallet ของผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคาร (non-bank) ทำได้สะดวกขึ้น หรือ Thai QR Payment บริการจ่ายเงินด้วยการสแกน QR Code ซึ่งช่วยเพิ่มทางเลือกและความสะดวกในการจ่ายเงินมากขึ้น โดยท่านที่สนใจสามารถติดตามอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพร้อมเพย์ได้ที่นี่

ประโยชน์ของพร้อมเพย์คืออะไร

  • สะดวก รวดเร็ว สามารถทำธุรกรรมโอน-รับ-จ่ายเงิน ได้ตลอด ทุกที่ ทุกเวลา นอกจากนี้ พร้อมเพย์ยังเป็นช่องทางสำคัญในการรับเงินสวัสดิการต่าง ๆ จากภาครัฐ รวมถึงการรับคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล (กรณีขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องผูกพร้อมเพย์กับหมายเลขทะเบียนนิติบุคคล) ทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจได้รับเงินจากภาครัฐอย่างรวดเร็วและทั่วถึง
  • ปลอดภัย ในแง่ของการลดการใช้เงินสด ทำให้ผู้ใช้งานไม่ต้องพกเงินจำนวนมากติดตัว อีกทั้งระบบกลางพร้อมเพย์ยังมีความมั่นคงปลอดภัย เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับ

อยากลงทะเบียนพร้อมเพย์ ต้องทำอย่างไร

ก่อนที่จะลงทะเบียนพร้อมเพย์ได้จะต้องมีบัญชีธนาคารใดธนาคารหนึ่งก่อน หลังจากนั้นจึงลงทะเบียนผูกบัญชีธนาคารเข้ากับพร้อมเพย์ โดยสามารถเลือกได้ว่าจะผูกพร้อมเพย์กับหมายเลขอ้างอิงใด เช่น หมายเลขบัตรประชาชนหรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือ ในกรณีที่ต้องการรับเงินสวัสดิการต่าง ๆ จากภาครัฐจะต้องผูกพร้อมเพย์กับหมายเลขบัตรประชาชน ในขณะที่หากต้องการความสะดวกในการรับโอนเงินจากผู้อื่นได้ง่าย ๆ ไม่ต้องจดจำเลขบัญชีธนาคารอาจเลือกผูกพร้อมเพย์กับหมายเลขโทรศัพท์มือถือ

 

การลงทะเบียนพร้อมเพย์นั้นสามารถดำเนินการได้ที่ธนาคารทุกสาขา โดยมีขั้นตอนที่แตกต่างกันไปตามแต่ละธนาคาร นอกจากนี้ ธนาคารส่วนใหญ่ยังมีช่องทางอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากสาขาธนาคารด้วย เช่น ลงทะเบียนผ่าน mobile banking, internet banking, ตู้ ATM หรือ call center ซึ่งท่านสามารถศึกษาวิธีการและช่องทางการลงทะเบียนได้ตามลิงค์ด้านล่าง

ขั้นตอนและช่องทางการลงทะเบียนพร้อมเพย์ของแต่ละธนาคาร

 

  • กรุงเทพ   คลิก
  • กรุงไทย   คลิก
  • กรุงศรี      คลิก
  • กสิกรไทย คลิก
  • เกียรตินาคิน คลิก
  • CIMB         คลิก
  • TTB           คลิก
  • TISCO       คลิก
  • ไทยพาณชิย์ คลิก
  • ธ.ก.ส.          คลิก
  • UOB           คลิก
  • LB Bank    คลิก
  • ออมสิน       คลิก
  • ธอส.         คลิก
  • Ibank       คลิก
  • ICBC       คลิก

เช็ควิธีลงทะเบียนพร้อมเพย์  ธปท.แนะขั้นตอนผูกบัญชี สรุปครบจบที่นี่

 

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย