สธ.จัดทีม “ซุปเปอร์ไรเดอร์” จิตอาสา ส่งยาด่วนให้ผู้ป่วยโควิดในกทม.ถึงบ้าน

05 ส.ค. 2564 | 07:10 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ส.ค. 2564 | 14:19 น.

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยปฏิบัติการเชิงรุก ทั้งการตั้งจุดตรวจภาคสนาม 3 จุด ส่งซีซีอาร์ทีม 12–15 ทีมเข้าค้นหาผู้มีความเสี่ยงในชุมชนทั้ง 6 โซน ใน 50 เขต และจัดชุดปฏิบัติการจิตอาสา “ซุปเปอร์ไรเดอร์” 60 คน ส่งยาด่วนถึงบ้านผู้ป่วยโควิดอาการน้อยทั่วเขตกทม.

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าววันนี้ (5 ส.ค.) ว่า ในส่วนของพื้นที่ กทม. ยังพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ในจำนวนเพิ่มขึ้น กรมควบคุมโรคได้มอบหมายให้สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ดำเนินการร่วมกับ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจภาคสนามเพื่อบริการแก่ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสัมผัสเชื้อโรค 3 แห่ง คือ

  • สนามกีฬาธูปะเตมีย์ 
  • สนามราชมังคลากีฬาสถาน 
  • สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดี

 

สามารถตรวจคัดกรองได้ประมาณ 4,000 คนต่อวัน โดยใช้ชุดตรวจ เอทีเค (Antigen Test Kit : ATK) ซึ่งสามารถรู้ผลได้รวดเร็ว รายใดที่ผลเป็นบวกจะตรวจยืนยันผลด้วยวิธีอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) ด้วยรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน และรถเอ็กซ์เรย์ปอดเคลื่อนที่ (เฉพาะจุดสโมสรกองทัพบก) แยกผู้ติดเชื้อตามระดับอาการแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อนำเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาที่เหมาะสมตามมาตรฐาน ทั้งที่บ้าน ที่ชุมชน หรือที่โรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค
 

สำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย สามารถพักรักษาตัวที่บ้านได้ โดยต้องขึ้นทะเบียนและแยกรักษาตัวที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน หรือจนกว่าอาการจะหาย เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว กรมควบคุมโรคได้จัด หน่วยส่งยาด่วน หรือเรียกว่า "ซุปเปอร์ไรเดอร์" ซึ่งเป็นประชาชนจิตอาสา ขณะนี้มีจำนวน 60 คน ให้ปฏิบัติภารกิจนำ ชุดอุปกรณ์ที่จำเป็นในการดูแลรักษาอาการที่บ้าน ประกอบด้วย

  • ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้
  • ยาฟ้าทะลายโจร
  • ปรอทวัดไข้
  • เครื่องตรวจวัดออกซิเจนปลายนิ้ว
  • เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ
  • หน้ากากอนามัย ป้องกันการแพร่เชื้อ

นำไปมอบให้แก่ผู้ป่วยโควิดตามบ้าน ขณะนี้ส่งมอบไปแล้วกว่า 100 ราย

 

ขณะเดียวกันกรมควบคุมโรคยังได้จัด ทีมปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด 19 เชิงรุก หรือที่เรียกว่า ซีซีอาร์ทีม (Comprehensive COVID-19 Response Team : CCR Team) จากสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง จำนวน 12–15 ทีม ร่วมกับ กทม. และเครือข่ายอื่นๆ เข้าค้นหาผู้มีความเสี่ยงที่อยู่ในชุมชนทั้ง 6 โซน ใน 50 เขตของกทม.

 

โดยแต่ละทีมจะทำการควบคุมโรค ตรวจคัดกรองการติดเชื้อด้วยชุดเอทีเค ได้วันละประมาณ 1,000 ราย ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ให้กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วยติดเตียง รวมทั้งประเมินระบบการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ตามพื้นที่เสี่ยงสำคัญ เช่น แคมป์ก่อสร้าง  ตลาดสด ชุมชน และให้ความรู้ในการป้องกันโรคโควิด 19 ด้วย ประชาชนที่มีอาการเจ็บป่วย สงสัยอาจติดเชื้อโควิด 19