5 สิงหาคม 2564 - นาย อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า กล่าวถึง การบริหารจัดการสถานการณ์โควิด -19 ของรัฐบาล โดยเสนอให้เพิ่มงบประมาณ สำหรับสภากาชาดไทย และ 4 องค์กรจัดการโรคระบาด เพื่อจัดวัคซีน-ฟาวิพิราเวียร์ สู้โควิด โดยไม่เกี่ยวข้องกับงบ 16,300 ล้านบาท ตามใจความระบุว่า ....
ต้องการ ให้ รัฐบาล และ ส.ส. ในสภา คิดถึงข้อเสนอของผมดูครับ เผื่อจะเป็นประโยชน์ ขอให้เพิ่มงบสภากาชาดไทย และ 4 องค์กรจัดการโรคระบาด จัดหาวัคซีน-ฟาวิพิราเวียร์ สู้โควิด อย่าโยกงบ 16,300 ล้านไปงบกลาง
ผมอ่านข่าวพบว่า มติที่ประชุม กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่ตกลงตัดงบประมาณ 16,300 ล้านบาท จากรายการอื่นๆ แล้วไปเพิ่มให้งบกลางของรัฐบาลว่า ไม่สมควรอย่างยิ่ง เหมือนการให้เงินไปใช้ทั้งที่ไม่มีแผนงานโครงการ เพราะเวลา 1 ปีกว่าที่ผ่านมานี้ รัฐบาลมีเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว และที่กู้เพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท แต่ปัญหาตอนนี้คือ “ระบบราชการรวมศูนย์” เงินมีแต่ใช้ไม่เป็น ระบบล่าช้า ระเบียบรุงรัง ไม่ตอบโจทย์สถานการณ์วิกฤต
จึงอยากเสนอให้แปรญัตติงบประมาณไปไว้ในองค์กรที่เกี่ยวข้องโดยตรง 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1.สภากาชาดไทย 2.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 3.กรมควบคุมโรค 4.องค์การเภสัชกรรม 5.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ
"หน่วยงานทั้ง 5 มีอำนาจทะลุกรอบปกติในยามวิกฤตโควิด ตามที่ ศบค. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งงานจัดหาวัคซีน การผลิตและส่งยาฟาวิพิราเวียร์ ให้กับผู้ติดเชื้อ ถ้ามีงบชัดด้วย เชื่อว่างานเดิน โดยเฉพาะ “สภากาชาดไทย" ที่มีวัฒนธรรมจิตอาสา มีประสบการณ์ในการรับมือวิกฤตทั้งสงครามและโรคระบาดมา 128 ปีแล้ว ตั้งแต่วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ไทย-ฝรั่งเศส โรคระบาดอหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ กาฬโรค”
เป็นเรื่องเหลือเชื่อว่าในวิกฤตโรคระบาด แต่องค์กรเหล่านี้กลับถูกปรับงบลดลงจากปีที่แล้ว ได้แก่ สภากาชาดไทย ถูกปรับลด 606 ล้านบาท , ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ถูกปรับลด 1,990.9 ล้านบาท , กรมควบคุมโรค ถูกปรับลด 478.9 ล้านบาท , สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ถูกปรับลด 1.2 ล้านบาท , และองค์การเภสัชกรรม มีเงินทุนหมุนเวียนปี 2564 เพียง 2,650 ล้านบาทเท่านั้น จึงอยากให้ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ที่อยู่ใน กมธ.งบประมาณฯ ทบทวนมติแล้วจัดสรรงบให้องค์กรที่มีความพร้อมอย่างแท้จริง