ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งทะลุกว่า 2 หมื่นรายต่อวัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการคาดการณ์ของสาธารณสุข ทำให้คนไทยต้องการวัคซีน mRNA ที่มีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิต้านทานไวรัสกลายพันธุ์โควิด-19 อย่างสายพันธุ์เดลต้าได้ดี
จึงมีเสียงเรียกร้องให้นำเข้าและฉีดวัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา เพิ่มขึ้น แม้จะต้องชำระเงินเองก็ตามที ขณะที่การสั่งซื้อวัคซีนโมเดอร์นาโดยองค์การเภสัชกรรม ในลอตแรกของไทยได้มาเพียง 5 ล้านโดสซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก และยังต้องจัดสรรให้กับโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐควบคู่กันไป
ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH ผู้บริหารเครือโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้สั่งซื้อวัคซีนทางเลือก “โมเดอร์นา” เพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านโดส โดยจะนำเข้ามาฉีดให้บริการได้ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2565
ถือเป็นวัคซีนโมเดอร์นาลอต 2 ที่จะได้รับต่อจากลอตแรก โดยลอตแรก องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้เซ็นสัญญาสั่งซื้อวัคซีนโมเดอร์นา กับแซดพี เทอราพิวติกส์ (ZP Therapeutics) หน่วยธุรกิจภายใต้บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ตัวแทนนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 จำนวน 5 ล้านโดส
และจะทยอยส่งมอบในช่วงเดือนตุลาคม 2564-มกราคม 2565 โดยโรงพยาบาลเอกชนได้รับการจัดสรร (โควตา) จำนวน 3.9 ล้านโดส สภากาชาดไทย 1 ล้านโดส โรงพยาบาลศิริราช 5 หมื่นโดส และโรงพยาบาลรามาธิบดี 5 หมื่นโดส
เซ็นแล้ว! วัคซีนโควิด “โมเดอร์นา” อภ.-ซิลลิคฯ สั่งซื้อ 5 ล้านโดส
ขณะเดียวกันสมาคมฯได้ให้โรงพยาบาลเอกชนต่างๆ เปิดให้ลูกค้าแสดงความจำนงในการจองวัคซีนเพิ่มขึ้น และล่าสุดสมาคมได้รับการติดต่อว่าจะมีวัคซีนโมเดอร์นาเข้ามาอีก 2 ล้านโดส ซึ่งจำนวนดังกล่าวจะจัดสรรให้กับสมาชิกเพื่อนำไปฉีดให้บริการกับลูกค้าที่สั่งจองเข้ามา
นอกจากนี้สมาคมฯ ยังให้โรงพยาบาลเอกชนทำการสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนโมเดอร์นา เจนเนอเรชั่น 2 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาและศึกษาประสิทธิภาพในการสร้างภูมิต้านทานเชื้อไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งโมเดอร์นา เจนเนอเรชั่น 2 นี้ จะมุ่งไปที่การฉีดวัคซีนเข็ม 3 หรือวัคซีนบูสเตอร์ ให้กับคนไทย ซึ่งการเปิดให้สั่งจองจะมีถึงวันที่ 13 สิงหาคมนี้ เบื้องต้นพบว่ามีผู้สั่งจองเข้ามาแล้วกว่า 10 ล้านโดส
“หลังจากที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้โควตาวัคซีนโมเดอร์นาจำนวน 3.9 ล้านโดส ก็จัดสรรให้กับสมาชิกโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด ซึ่งไม่เพียงพอกับยอดที่จองไว้ จึงให้เริ่มสำรวจความต้องการวัคซีนโมเดอร์นา เจนเนอเรชั่น 2 เพื่อมาเป็นวัคซีนบูสเตอร์ต่อทันที
แต่โชคดีได้วัคซีนโมเดอร์นา ซึ่งเป็นเจนเนอเรชั่น 1 เช่นเดียวกับลอตแรก เข้ามาเพิ่มอีก 2 ล้านโดส โดยจะนำเข้ามาในไตรมาส 1 ปี 2565 ถือเป็นลอต 2 สมาคมก็จะนำมาจัดสรรให้กับสมาชิกทันที ส่วนลอต 3 จะเป็นวัคซีน บูสเตอร์ ซึ่งเป็นโมเดอร์นา เจนเนอเรชั่น 2 หากสำรวจเสร็จก็จะยืนยันตัวเลขสั่งจองอีกครั้ง ส่วนจะได้รับวัคซีนเมื่อไร จะต้องรอดูอีกครั้ง”
สำหรับความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 1.5 ล้านโดส ที่รัฐบาลสหรัฐฯมอบให้กับประเทศไทยนั้น ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การจัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 7 แสนโดส สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า จะกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆในระหว่างวันที่ 5-7 ส.ค. นี้
เพื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทุกคน รวมทั้งนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโควิดจากการปฏิบัติงาน เช่น แผนกผู้ป่วยนอกผู้ป่วยใน คลินิกทางเดินหายใจ ห้องฉุกเฉิน แผนกผู้ป่วยวิกฤติ โรงพยาบาลสนาม เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่กักกันหรือปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโควิด 19 เป็นต้น
ส่วนแนวทางการฉีดวัคซีน มี 4 แนวทางได้แก่ 1. การฉีดให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคหรือซิโนฟาร์มครบ 2 เข็ม โดยไฟเซอร์ เป็นเข็ม 3 จำนวน 6 แสนโดส 2. ผู้ที่ฉีดวัคซีนใดๆ แล้ว 1 เข็ม ให้ฉีดไฟเซอร์เป็นเข็ม 2 จำนวน 5 หมื่นโดส 3. ผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนใดๆ เลย ให้ฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ จำนวน 4.77 หมื่นโดส และ 4. ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดและยังไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน ให้ฉีดไฟเซอร์ 1 เข็ม จำนวน 2,300 โดส
ขณะที่ในเดือนสิงหาคมนี้ มีเป้าหมายจะฉีดวัคซีนให้ได้ 10 ล้านโดส โดยเน้นกลุ่มผู้สูงอายุ ให้ได้ 80% ในพื้นที่กรุงเทพฯ และ 70% ในพื้นที่ควบคุมและเข้มงวด กลุ่มโรคเรื้อรัง 7 โรคและหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และกลุ่มอสม. ซึ่งเป็นบุคลากรด่านหน้า อย่างไรก็ดีเป้าหมายการฉีดวัคซีนดังกล่าวขึ้นอยู่กับจำนวนวัคซีนที่จะได้รับด้วย