ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติเห็นชอบในมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการ และผู้ประกันตนมาตรา33 ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้มรวม 13 จังหวัด ใน 9 ประเภทกิจการ ได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมบริการด้านอาหาร กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ กิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ สาขากิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน สาขากิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ และสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร
โดยจ่ายเงินเยียวยาให้กับ
นางสาวลัดดา แซ่ลี้ โฆษกสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคมได้เริ่มโอนเงินรอบแรกให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 ไปแล้วเมื่อ 4-6 สิงหาคม2564 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้รับสิทธิไปแล้ว 2,227,900 คน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5,569.75 ล้านบาท
สำหรับการเยียวยากลุ่มผู้ประกอบการนายจ้างในระบบประกันสังคมที่คิดคำนวณจากจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ได้หัวละ 3,000 บาท จำนวนเงินสูงสุดที่นายจ้างได้รับจะอยู่ที่ 600,000 บาท
โอนเงินเยียวยานายจ้าง เริ่ม 10 ส.ค.นี้
ล่าสุดมีนายจ้างทยอยมายื่นขอรับเงินเยียวยาในระบบ e-service แล้วประมาณ 200,000 ราย สำนักงานประกันสังคมพร้อมเริ่มโอนเงินงวดแรกในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 แต่ยังมีนายจ้างอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ยื่นขอรับเงินชดเชยเยียวยา ขอให้รีบดำเนินการยื่นแบบความประสงค์ขอรับเงินโดยด่วน ขั้นตอนคือเข้าระบบ e-service บนเว็บไซต์ www.sso.go.th ของสำนักงานประกันสังคม กรอกข้อมูล แล้วส่งกลับมาให้สำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสถานประกอบการนั้นตั้งอยู่
กรณีนายจ้างที่เป็นนิติบุคคลให้แนบสำเนาบัญชีธนาคารกลับมาด้วย ส่วนนายจ้างบุคคลธรรมดาให้ผูกบัญชีพร้อมเพย์เลขบัตรประชาชน เพื่อสำนักงานประกันสังคมจะโอนเงินได้อย่างรวดเร็ว
ไม่ได้สิทธิ์ ยื่นทบทวนสิทธิ์ ภายใน1 ต.ค.64
โฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า นายจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข็มงวด 13 จังหวัด ใน 9 กิจการ ให้เข้าไปตรวจสอบสิทธิในเว็บไซต์ประกันสังคม sso.go.th/eform หากเช็คแล้วปรากฏว่าท่านไม่มีสิทธิรับเงินเยียวยา สามารถยื่นขอทบทวนสิทธิ กับสำนักงานประกันสังคมเพื่อตรวจสอบนิติสัมพันธ์ ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 สำนักงานประกันสังคมที่รับผิดชอบจะดำเนินการบันทึกข้อมูลนายจ้างเข้าระบบภายในวันที่ 18 ตุลาคม 2564
หรือกรณีที่นายจ้างมีสำนักงานใหญ่ อยู่นอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข็มงวด แต่มีสาขาตั้งอยู่ใน 13 จังหวัดที่ได้รับการเยียวยา ขอให้นายจ้างรีบดำเนินการติดต่อสำนักง่านประกันสังคมที่รับผิดชอบโดยทันที เพื่อขอจดทะเบียนเพิ่มสาขา หรือขอเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงของประเภทกิจการที่แจ้งไว้เดิม ภายใน 1 ตุลาคม 2564 เพื่อการขอรับสิทธิเงินเยียวยาต่อไป
หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง