“อนุทิน”รับเตรียม“นิรโทษกรรมโควิด”คุ้มครองบุคลากรการแพทย์ด่านหน้า

09 ส.ค. 2564 | 06:22 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2564 | 13:27 น.

“อนุทิน”รับเตรียมออกกฎหมาย “นิรโทษกรรมโควิด” อ้างเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข คลายความกังวลในการรักษาพยาบาลและวินิจฉัยโรคโควิด-19

ภายหลังมีการเผยแพร่ร่าง “พรก.นิรโทษกรรมโควิด” ให้กับคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดหา และบริหารวัคซีนโควิด-19 

 

วันนี้(9 ส.ค.64) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีพรรคก้าวไกล ออกมาค้านการออกพระราชกำหนดคุ้มครองบุคลากรสาธารณสุข โดยมองว่าเป็นการนิรโทษกรรมเหมาเข่ง ผู้ที่จัดหาวัคซีนโควิด-19 ว่า ไม่ใช่ เพราะเราต้องให้ความมั่นใจกับบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข เพราะช่วงนี้มีการรักษาคนไข้เรือนแสน 

 

“ดังนั้น เพื่อความคลายกังวลในการรักษาพยาบาลและการวินิจฉัยโรค จึงต้องให้ความมั่นใจว่าเขาจะได้รับความเป็นธรรม ไม่ใช่ว่าเดี๋ยวเกิดมีช่องโหว่แล้วคนหัวใสก็จะฟ้องร้อง เราจึงไม่อยากให้บรรดาแพทย์พยาบาล ต้องวิตกกังวล เมื่อเขามีขวัญกำลังใจเต็มที่ ก็จะทุ่มเทในการรักษาพยาบาล คนที่จะได้ประโยชน์ ก็คือประชาชน และวัคซีนก็ต้องเข็มสามเพื่อให้ปลอดภัย” นายอนุทิน ระบุ
 

ก่อนหน้านี้ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมาแสดงความเห็นถึงการตรากฎหมาย พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. ... โดยระบุว่า หากจำเป็นต้องมี พ.ร.ก.ฉบับนี้ ก็ควรจะคุ้มครองเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติงานด่านหน้า ที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายเท่านั้น

 

แต่ไม่ควรคุ้มครอง บุคคล หรือคณะบุคคลที่มีหน้าที่ตัดสินใจในการจัดหา และบริหารจัดการวัคซีน ซึ่งหากดำเนินการด้วยความสุจริตจริง กระบวนการยุติธรรม ตามปกติ ก็คุ้มครองอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายกึ่งนิรโทษกรรมล่วงหน้า แบบที่คณะรัฐประหารใช้แบบนี้

 

การกระทำ หรือ การตัดสินใจใดๆ ที่ไม่สอดคล้องกับหลักวิชา หรือ ไม่นำพาผลการศึกษาวิจัยที่เป็นปัจจุบัน ไม่ใส่ใจในคำทักท้วงของผู้รู้ หรือสมาคมวิชาชีพ ถือดีว่าตนเป็นผู้มีคุณวุฒิสูง ก็เอาอัตตาของตนเองเป็นที่ตั้ง นำเอาชีวิตของประชาชนมาเดิมพัน ย่อมไม่ควรได้รับความคุ้มครองให้ปราศจากความรับผิดตามกฎหมาย ส่วนจะถูก หรือ ผิด กระบวนการยุติธรรม โดยศาลยุติธรรม ท่านก็จะวินิจฉัยเองว่า ควรได้รับโทษทางอาญา หรือทางแพ่ง หรือไม่ อย่างไร
 

การออกกฎหมายกึ่งนิรโทษกรรมให้กับคณะบุคคลที่มีหน้าที่ในการตัดสินใจเชิงนโยบายที่สำคัญแบบนี้ หากในอนาคต เราพบข้อเท็จจริงที่เป็นกรณีบกพร่องอย่างร้ายแรง หรือ กรณีที่เล็งเห็นถึงหายนะที่เกิดขึ้นได้ แต่เพิกเฉย ลอยชายตามระบบรัฐราชการรวมศูนย์ เห็นชีวิตประชาชนเป็นผักปลา แล้วเราจะให้ความเป็นธรรมกับประชาชนที่ตายไปได้อย่างไร