กลายเป็นประเด็นให้น่าติดตามอีกเรื่องหนึ่ง กรณีที่มีความพยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบกึ่งเหมาเข่ง ให้กับคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดหา และบริหารวัคซีนโควิด-19 และมีร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าวเผยแพร่ออกมา
เรื่องนี้ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมาเปิดเผยว่า ได้รับเอกสารการนำเสนแนวทางในการปรับปรุงกฎหมายเพิ่มเติม เพื่อคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์สำหรับการปฏิบัติงานตามข้อสังการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นเอกสารฉบับทางการหรือไม่ เป็นเอกสารฉบับล่าสุดหรือเปล่า ปัจจุบันได้มีการแก้ไข ปรับปรุงอะไรไปบ้างแล้วหรือไม่
จากเอกสารที่ได้รับ ขออนุญาตให้ทรรศนะของผม ในเบื้องต้นก่อนดังนี้
ส่วนข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร คงต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจง เพื่อให้สังคมเกิดความกระจ่างอีกครั้งหนึ่งต่อไป
โดยแนวคิดสำคัญของเอกสารนำเสนอฉบับนี้ คือ การตรากฎหมาย พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. ...
โดยหลักการแล้ว ในสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ การจำกัดความรับผิดทั้งทางอาญา และแพ่ง ให้กับแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข ที่ปฏิบัติด่านหน้า ที่ทำงานเต็มความสามารถ โดยสุจริต และไม่ได้เลือกปฏิบัติ ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้น เป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว
แต่ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ การที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเกิดขึ้นรุนแรงอยู่ที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากการตัดสินใจเชิงนโยบาย ทั้งๆ ที่ควรจะคาดการณ์ได้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น
1) การไม่กระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน
2) การจัดฉีดวัคซีนที่ล่าช้า ขาดการวางระบบในการจัดการ และการบริหารฐานข้อมูลที่ดี
3) การเบิกจ่ายงบประมาณในการเตรียมความพร้อม ทั้งด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่จำเป็น ที่ขาดประสิทธิภาพ ดูเบาต่อสถานการณ์
ฯลฯ
ประเด็นต่างๆ ข้างต้น นี้เป็นที่สงสัยจากภาคประชาชนว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนต้องล้มตายเป็นจำนวนมาก ต้องตายคาบ้าน ตายกลางถนน ซึ่งเป็นความสูญเสียอย่างที่ไม่ควรจะเป็น ทำให้เด็กตัวเล็กๆ เพียงไม่กี่ขวบปี หลายคนต้องเป็นกำพร้า และจะไม่ได้รับโอกาสที่จะได้กอดพ่อแม่ของพวกเขาอีก และความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มากมายเหลือคณานับ หลายคนต้องสิ้นเนื้อประดาตัว แถมยังต้องแบกหนี้สินที่ล้นพ้นตัวอีก
ควรต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริง ไม่ควรที่จะออกกฎหมาย "นิรโทษกรรมแบบกึ่งเหมาเข่ง" แบบนี้
นายวิโรจน์ ระบุว่า ในข้อที่ 7.ที่จะคุ้มครองให้บุคคล และ คณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้ง หรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหา หรือบริหารวัคซีน ควรจะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาล ประชาชนทุกข์ยากแสนสาหัสนั้น มีความเกี่ยวข้องกับบุคคล หรือคณะบุคคลเหล่านี้หรือไม่
ข้อยกเว้นที่กฎหมายนี้จะไม่คุ้มครอง ที่มีอยู่เพียง 3 ข้อ ได้แก่
- การกระทำโดยไม่สุจริต
- การกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
- การกระทำเกิดจากการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
เป็นข้อยกเว้นที่กว้างเกินไป และในทางปฏิบัติ ก็สามารถอ้างได้อยู่แล้ว ว่าทำโดยสุจริต มีคณะร่วมตัดสินใจอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อให้คนพ้นจากความรับผิดได้อยู่แล้ว
หากจำเป็นต้องมี พ.ร.ก.ฉบับนี้ ก็ควรจะคุ้มครองเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติงานด่านหน้า ที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายเท่านั้น
แต่ไม่ควรคุ้มครอง บุคคล หรือคณะบุคคลที่มีหน้าที่ตัดสินใจในการจัดหา และบริหารจัดการวัคซีน ซึ่งหากดำเนินการด้วยความสุจริตจริง กระบวนการยุติธรรม ตามปกติ ก็คุ้มครองอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายกึ่งนิรโทษกรรมล่วงหน้า แบบที่คณะรัฐประหารใช้แบบนี้
การกระทำ หรือ การตัดสินใจใดๆ ที่ไม่สอดคล้องกับหลักวิชา หรือ ไม่นำพาผลการศึกษาวิจัยที่เป็นปัจจุบัน ไม่ใส่ใจในคำทักท้วงของผู้รู้ หรือสมาคมวิชาชีพ ถือดีว่าตนเป็นผู้มีคุณวุฒิสูง ก็เอาอัตตาของตนเองเป็นที่ตั้ง นำเอาชีวิตของประชาชนมาเดิมพัน ย่อมไม่ควรได้รับความคุ้มครองให้ปราศจากความรับผิดตามกฎหมาย
ส่วนจะถูก หรือ ผิด กระบวนการยุติธรรม โดยศาลยุติธรรม ท่านก็จะวินิจฉัยเองว่า ควรได้รับโทษทางอาญา หรือทางแพ่ง หรือไม่ อย่างไร
การออกกฎหมายกึ่งนิรโทษกรรมให้กับคณะบุคคลที่มีหน้าที่ในการตัดสินใจเชิงนโยบายที่สำคัญแบบนี้ หากในอนาคต เราพบข้อเท็จจริงที่เป็นกรณีบกพร่องอย่างร้ายแรง หรือ กรณีที่เล็งเห็นถึงหายนะที่เกิดขึ้นได้ แต่เพิกเฉย ลอยชายตามระบบรัฐราชการรวมศูนย์ เห็นชีวิตประชาชนเป็นผักปลา แล้วเราจะให้ความเป็นธรรมกับประชาชนที่ตายไปได้อย่างไร
“เราจะมีหน้า มองตาของเด็กๆ ที่ต้องกำพร้าพ่อแม่ ได้อย่างไร เห็นด้วยให้คุ้มครองเฉพาะบุคลากรคนด่านหน้า อย่านิรโทษล่วงหน้า ให้กับผู้ที่มีหน้าที่ในการตัดสินใจเชิงนโยบาย" นายวิโรจน์ ระบุ