ชมรมเเพทย์ชนบท ชวนคนลงชื่อเรียกร้องรัฐใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีน

09 ส.ค. 2564 | 07:30 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2564 | 14:25 น.

ประธานชมรมแพทย์ชนบท ชวนคนร่วมลงชื่อแคมเปญของอาจารย์หมอศิริราช เรียกร้องให้รัฐบาลใช้รัฐบาลใช้ พ.ร.บ​.​ความมั่นคงด้านวัคซีน ลด-งดการส่งออกวัคซีนจาก Siam Bioscience ชั่วคราว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 9 ส.ค.64 นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า ชมรมแพทย์ชนบทสนับสนุนและเชิญชวนทุกท่านร่วมลงชื่อในแคมเปญ เรียกร้องให้รัฐบาลใช้พ.ร.บ​. ​ความมั่นคงด้านวัคซีนฯ ลดการส่งออกวัคซีนของ Siam Bioscience ซึ่งสร้างขึ้นไว้ใน www.change.org (http://chng.it/X94dVxZj)

โดย ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

นับตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค. 2564 ที่คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการจะใช้อำนาจออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561 เพื่อกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยไปนอกราชอาณาจักรชั่วคราว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ดำเนินการใดๆ

สำหรับแคมเปญดังกล่าว ศ.นพ.ประเสริฐ ได้ระบุเอาไว้ว่า เนื่องจากในเวลานี้การเข้ามาของวัคซีนบริจาคและข่าวการจัดหาวัคซีนเพิ่มอาจทำให้หลายคนเข้าใจว่าสถานการณ์วัคซีนของประเทศกำลังดีขึ้น แต่ที่จริงแล้วแม้ในระยะยาวสถานการณ์เรื่อง supply ของวัคซีนของประเทศอาจจะดีขึ้นจริง แต่ตนทราบจากการพูดคุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ว่า ในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้าที่เป็นระยะหน้าสิ่วหน้าขวานของการควบคุมการระบาด ประเทศไทยกำลังจะประสบปัญหาการขาดแคลนวัคซีนอย่างหนัก

ดังนั้น วิธีที่ตรงไปตรงมามากที่สุดที่ประเทศควรทำในขณะนี้คือการลดหรืองดการส่งออกวัคซีนที่ผลิตที่ Siam Bioscience เป็นการชั่วคราว ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีอำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนฯ ในการดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว ขณะนี้ Siam Bioscience มีกำลังการผลิตประมาณเดือนละ 10 ล้านโดส หากใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ทำให้ประเทศมีวัคซีน 20-30 ล้านโดสในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ประเทศไทยจะมีโอกาสควบคุมการระบาดและลดความสูญเสียได้ดีขึ้นมาก

ศ.นพ.ประเสริฐ ยังระบุอีกว่า การดำเนินการเช่นนี้จะมีผลกระทบต่อประเทศอื่นในภูมิภาคที่จะได้รับวัคซีนจาก AstraZeneca ลดลงบ้าง แต่ประเทศเหล่านี้ไม่ได้พึ่งพาวัคซีนนี้เป็นหลักอย่างประเทศไทย การลดลงของวัคซีนชนิดเดียวในวัคซีนหลายๆ ชนิดมีผลกระทบน้อยกว่าประเทศไทยที่เมื่อวัคซีนหลักไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ก็มีวัคซีนอื่นที่จะมาช่วยได้น้อยมาก

เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วตนคิดว่าแม้จะมองในระดับภูมิภาคเรื่องนี้ก็ยังจำเป็นต้องทำอยู่ดี