13 ส.ค. 2564 - นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธาณสุข ได้เดินทางไป ที่ชั้น 11 อาคารจุฬาพัฒน์ 14 เพื่อตรวจเยี่ยมโรงงานต้นแบบการผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุด้วยพืช โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เพื่อผลิตวัคซีนโควิด 19 ชนิดโปรตีนซับยูนิตจากใบยาสูบ
โดยนายอนุทิน เปิดเผยว่า ขอเป็นกำลังใจให้ทีมไทยแลนด์ ในการพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ภาครัฐ ต้องการให้มีวัคซีนสัญชาติไทย เพื่อลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ และได้ให้การสนับสนุนผู้ผลิตอย่างต่อเนื่อง สำหรับทีมจุฬาฯ และบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม เริ่มพัฒนามาตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2563 ทดสอบได้ผลดีกับสัตวว์ทดลอง จากนี้ จะมีการทดสอบในมนุษย์ หวังว่าผลการทดลองจะออกมาได้ด้วยดี เพื่อเป็นอาวุธให้คนไทยใช้สู้กับโรค
ทั้งนี้ เพื่อยืนยัน ว่าภาครัฐสนับสนันโครงการนี้อย่างเต็มที่ กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ จึงจัดสรรงบประมาณ 160 ล้านบาท ให้แก่จุฬาฯและบริษัทใบยาในการปรับปรุงพัฒนาโรงงานต้นแบบการผลิตวัคซีนและชีววัตถุโดยใช้พืช ใช้เวลา 8 เดือนในการปรับปรุงบนพื้นที่ชั้น 11 อาคารจุฬาพัฒน์ 14 ขนาด 1,200 ตารางเมตร ผ่านมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมรองรับการผลิตวัคซีนในขั้นต้น เริ่มตั้งแต่เพาะเลี้ยงแบคทีเรียพาหะสารพันธุกรรมของโคโรนาไวรัส ปลูกถ่ายลงในใบยาสูบ เพาะพันธุ์เพิ่มจำนวน และเก็บเกี่ยวเพื่อสกัดโปรตีนสำหรับใช้ผลิตวัคซีน ก่อนนำส่งไปทำวัคซีนให้บริสุทธิ์ ที่บริษัท คินเจ่น ไบโอเทค จำกัด จากนั้นผสมและแบ่งบรรจุวัคซีนที่สถานเสาวภาต่อไป
ทั้งนี้ ในเดือนกันยายนปีนี้ วัคซีนจุฬา-ใบยา จะมีการทดลองในมนุษย์ เฟสที่ 1 เบื้องต้นประมาณ 100 คน ในขนาดโดส 10 ไมโครกรัม 50 ไมโครกรัม และ 100 ไมโครกรัม หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน คาดว่าในไตรมาส 3 ของปี 2565 สามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิด 19 ฝีมือคนไทยในประเทศเองได้ประมาณ 1-5 ล้านโดสต่อเดือน หรือราว 60 ล้านโดสต่อปี