รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
วัคซีน Moderna ป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้ดีกว่า วัคซีน Pfizer แต่เสมอกันในการป้องกันการนอนโรงพยาบาลและการเข้าไอซียู
จากการระบาดของโควิดทั่วโลกกว่าหนึ่งปีเศษ มีวัคซีนออกมาหลายบริษัท หลายเทคโนโลยี โดยที่มีความแตกต่างกันออกไป
พบว่าวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA ที่มีความเด่นในขณะนี้คือของสองบริษัท ได้แก่ Pfizer และ Moderna เนื่องจากมีรายงานประสิทธิผล (Efficacy) ในการป้องกันโรคค่อนข้างสูง
โดยวัคซีนทั้งสองชนิด มีความแตกต่างกันที่ส่วนไขมันหุ้ม mRNA (LNP : Lipid Nano Particle)
มีการศึกษาเปรียบเทียบวัคซีน mRNA กับเทคโนโลยีอื่นมาหลายครั้ง เพื่อดูว่าชนิดไหนสามารถป้องกัน หรือรับมือไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตาได้ดีกว่ากัน
แต่งานวิจัยศึกษาเปรียบเทียบวัคซีน เทคโนโลยี mRNA ด้วยกันเอง มีค่อนข้างน้อย
Mayo Clinic Health System ได้ศึกษาผู้รับการฉีดวัคซีนมากกว่า 50,000 คนในรัฐมินิโซต้า และได้ข้อสรุปว่า
ในกรณีการป้องกันการติดเชื้อ (Infection) มีประสิทธิผล (Effectiveness) ลดลงทั้งคู่ เมื่อเจอกับไวรัสสายพันธุ์เดลตา
แต่ของ Moderna ลดลงน้อยกว่า คือลดจาก 86% เหลือ 76%
ในขณะที่ของ Pfizer ลดลงมากกว่า คือลดจาก 76% เหลือ 42%
เป็นการเปรียบเทียบในเดือนมกราคม ซึ่งมีอยู่ไวรัสสายพันธุ์เดลตาเพียง 0.7% กับเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งมีไวรัสสายพันธุ์เดลต้ามากถึง 70%
แต่เมื่อลงไปดูเปรียบเทียบประสิทธิผล ในการป้องกันการนอนโรงพยาบาล (Hospitalization) และการป่วยหนักต้องเข้าไอซียู พบว่าวัคซีนทั้งสองชนิดมีประสิทธิผลไม่แตกต่างกัน
ทางบริษัท Pfizer ไม่ได้แสดงความคิดเห็นต่อรายงานการศึกษาชิ้นนี้ แต่กล่าวว่า วัคซีนของตนจำเป็นจะต้องฉีดเข็มสาม เพื่อเป็นการกระตุ้น หลังจากที่ฉีดวัคซีนครบสองเข็มแล้วเป็นเวลา 6-12 เดือน เพราะมีรายงานการศึกษาว่า เมื่อฉีดวัคซีนเลยห้าเดือนไปแล้ว ระดับภูมิคุ้มกันจะลดลง ทำให้มีผู้ติดเชื้อมากกว่าผู้ที่รับวัคซีนเข็มสองยังไม่ครบห้าเดือน
เมื่อมีรายงานการศึกษาต่างๆทยอยออกมา ก็เริ่มเห็นแนวโน้มที่ชัดเจนว่า ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนของบริษัทใด ผลิตด้วยเทคโนโลยีอะไรก็ตาม จะมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาลดลงทั้งสิ้น จึงเป็นความจำเป็น ที่จะต้องมีการเร่งวิจัยพัฒนาวัคซีนรุ่นที่สอง ที่ผลิตขึ้นมาโดยตรงที่จะรองรับกับไวรัสสายพันธุ์เดลตา ซึ่งจะเป็นภาระกับประเทศต่างๆที่จะต้องจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรจำนวนมาก เพื่อจัดหาวัคซีนรุ่นที่สอง ฉีดให้กับประชาชนของตนเองต่อไป
สำหรับวัคซีนโมเดอร์นานั้น จากการติดตามข้อมูลของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า เป็นวัคซีนทางเลือกที่องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2563 ต่อจากวัคซีนไฟเซอร์
สำหรับประเทศไทย Moderna เป็นวัคซีนทางเลือกที่จะได้นำมาใช้ในประเทศโดยภาคเอกชน ซึ่งเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ทางคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนดังกล่าวในตำรับยาแผนปัจจุบัน ในฐานะยาควบคุมพิเศษ และมีแนวโน้มที่คนไทยจะได้ฉีดกันเร็ว ๆ นี้