นางศิรินุช ชีวันพิศาลนุกูล รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า การจัดซื้อชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด ตามโครงการพิเศษของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. อย่างเร่งด่วน นั้น องค์การฯได้ดำเนินการจัดซื้อตามเนื้อหาหลักของ TOR ที่ สปสช.กำหนดมา ซึ่ง TOR ล่าสุดไม่ได้มีการระบุว่าต้องเป็นมาตรฐาน WHO ทั้งนี้เป็นไปตามหนังสือของโรงพยาบาลราชวิถีส่งมาให้องค์การฯ ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2564 พร้อมได้แนบหนังสือของสปสช. ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ซึ่งแนบTOR ที่ลงนามโดยประธานคณะทำงานกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาด้วย
หลังจากนั้นองค์การฯได้มีการประสานงานกับสปสช.และโรงพยาบาลราชวิถี เพื่อปรับในรายละเอียดบางส่วนของ TOR บางประการเช่นการกำหนดเวลาส่งมอบที่กระชั้นชิด จากเดิมวันส่งมอบซึ่งระบุเป็นวันที่ 10 สิงหาคม ได้ปรับเป็นส่งมอบภายใน 14 วันหลังจากวันลงนามในสัญญา รวมถึงประเด็นที่ได้รับการทักท้วงจากผู้ขายและได้ดำเนินการตามความเห็นของ สปสช อาทิ จากเดิมให้ใช้ตัวอย่างตรวจเป็น “Nasal /Nasopharyngeal swab” ได้ปรับเป็น “Nasal swab หรือตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง ชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV2 (เชื้อก่อโควิด-19) ฯ พ.ศ. 2564 ข้อ 10ปรับค่าจากเดิม “ความจำเพาะ(Specificity) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 97” ได้ปรับเป็น “ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 98” เพื่อให้ได้ATK ที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน ของอย. ไม่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เปิดกว้างในการแข่งขันมากขึ้น และเป็นไปตามความต้องการตาม TOR ของ สปสช และโรงพยาบาลราชวิถี พร้อมทั้งดำเนินการจัดซื้อโดยวิธีคัดเลือก เนื่องจากมีผู้ขายมากกว่า 1 ราย ซึ่งสามารถดำเนินการเร่งด่วนได้เช่นกัน พร้อมกันนั้นได้เร่งส่ง TOR ให้บริษัททั้ง 24 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทตามประกาศของอย.ในขณะนั้น กำหนดยื่นเสนอเอกสารและเปิดซองราคาในวันที่ 10 สิงหาคม ใช้เกณฑ์ราคาต่ำสุด
โดยในวันเสนอราคามีบริษัทเข้าร่วมเสนอราคา 19 บริษัท ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ 16 บริษัท และได้ผลิตภัณฑ์ ATK ยี่ห้อ “SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test Kit” ของ บริษัทออสแลนด์ แคปปิตอล จำกัด โดยผู้แทนจำหน่ายคือบริษัทเวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) เป็นผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด ราคาประมาณชุดละ70 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยเสนอราคาต่ำกว่าวงเงินงบประมาณที่ สปสช.ตั้งไว้ ทำให้ประหยัดงบประมาณภาครัฐได้กว่า 400 ล้านบาท
รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวต่อไปว่า การจัดซื้อATKครั้งนี้ ถ้าหาก สปสช.และโรงพยาบาลราชวิถี พิจารณาเห็นว่ามีผู้ขายเพียงรายเดียวที่มีคุณสมบัติถูกต้องตามที่ต้องการ ทั้ง 2 หน่วยงานสามารถระบุ ยี่ห้อและ/หรือบริษัท พร้อมเหตุผลความจำเป็นที่ชัดเจนในการต้องระบุยี่ห้อ มาให้แก่องค์การฯเพื่อจัดซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจงได้ แต่การจัดซื้อครั้งนี้ทั้ง 2 หน่วยงานไม่ได้มีการระบุมาให้ องค์การฯ จึงดำเนินการจัดซื้อตามข้อบังคับองค์การเภสัชกรรมว่าด้วยการพัสดุเพื่อการผลิตและจำหน่าย พ.ศ. 2561 โดยวิธีคัดเลือกเนื่องจากมีผู้ขายหลายราย ซึ่งสามารถดำเนินการภายในระยะเวลาเร่งด่วนได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ข้อบังคับขององค์การเภสัชกรรมว่าด้วยการพัสดุเพื่อการผลิตและจำหน่าย พ.ศ.2561 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 เป็นหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาญิชย์โดยตรง ที่ออกตาม พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และประกาศคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ข้อบังคับฯจะกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ของการซื้อโดยวิธีคัดเลือกไว้ในข้อ 11 และวิธีเฉพาะเจาะจงในข้อ 13 โดยสามารถซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจงกรณีเป็นพัสดุเพื่อการผลิตและจำหน่ายที่จำเป็นต้องซื้อตามความต้องการของลูกค้าตามข้อ 13 (4)