วันนี้ (19สิงหาคม) เวลา 10.30 น.ที่บริเวณด้านหน้ากระทรวงแรงงานนายสุทัศน์ เอี่ยมแสง ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง นางสาวอัณธิกา โคตะมะ รองเลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง พร้อมด้วย เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิค-19พื้นที่สมุทรปราการ สระบุรี รังสิต และปทุมธานี กว่า 20 คน
เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทวงแรงงาน เพื่อหาทางออกวิกฤตโควิด-19 ทั้งนี้กลุ่มผู้ใช้แรงงานได้แต่งตัวด้วยชุดคลุมท้องและชูป้ายข้อเรียกร้องด้วย
จากนั้นเวลา11.30 น. ผู้แทนกระทรวง ได้เชิญกลุ่มเครือข่ายฯ เข้าประชุมเพื่อหารือร่วมกับ นายสุชาติ รมว.แรงงาน ที่ชั้น6ของกระทรวงแรงงานด้วย
นายสุทัศน์ กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์กลุ่มแรงงานที่ติดเชื้อโควิด-19 ย่านรังสิตและพื้นที่ใกล้เคียง พบจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการรักษา การเอ็กซเรย์ปอด รับยา บางบริษัทฯมีคำสั่งให้กักตัวที่บ้านแค่7 วัน แล้วกลับไปทำงาน ยกตัวอย่าง บริษัทฯแห่งหนึ่งมีคนงาน 4,000 คน ตรวจคัดกรองเชิงรุก1,000 คน ติดเชื้อ 200 คน คิดเป็นร้อยละ20 บริษัทให้กักตัว และปิดเพียง 7 วันแล้วเปิดให้ทำงาน โดยเข้า-ออกประตูด้านหลัง ซึ่งไม่มีหน่วยงานรัฐเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง
อย่างไรก็ตามก็ยังพอมี ตัวอย่างบริษัทที่ใส่ใจดูแลพนักงาน เช่น ทราบว่าติดเชื้อ 20 คน ประกาศปิดทันที 14 วันเพื่อทำความสะอาด และตรวจเชิงรุกทุกคน ก่อนที่จะเปิดทำการ หรือ ตรวจเชิงรุกทุกสัปดาห์ ถ้าติดเชื้อจะใช้หอพักในโรงงานเป็นสถานที่แยกกักตัว และเช่าหอพักข้างนอกให้กับคนงานที่ไม่ติดเชื้อ ที่สำคัญคือ ฉีดวัคซีนให้คนงานครบ 2 เข็มแล้วด้วย
“แรงงานต้องสังเวยอีกกี่ชีวิต เพราะนโยบายกระทรวงแรงงานที่ออกมายังไม่ตอบโจทย์ แรงงานจำนวนไม่น้อยยังหลุดจากระบบการดูแลรักษา หลายคนทนทุกข์เข้าไม่ถึงการรักษา ต้องตกงาน อดมื้อกินมื้อ ไร้ความมั่นคง กู้หนี้ยืมสินเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างที่มีประกาศปิดกิจการชั่วคราว ไม่ได้รับค่าชดเชย บางบริษัทฯไม่มีมาตรการตรวจเชิงรุก หรือตรวจเจอเชื้อแต่ไม่แยกกักตัวรักษา” นายสุทัศน์ กล่าว
ด้าน นางสาวอัณธิกา กล่าวว่า คนงานกลุ่มเปราะบางที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ ขณะนี้ติดโควิดเสียชีวิตรายวัน เพราะถูกลอยแพ ปฏิเสธการทำคลอด ไร้การรักษา ไม่มีการตรวจคัดกรองเชิงรุก และแยกคนงานที่ป่วยออกจากโรงงานทันที เช่น หลายบริษัทฯยังให้ทำงานตามปกติ เสี่ยงติดเชื้อ เพราะใช้พื้นที่ปะปนกัน เสี่ยงต่อระบบทางเดินหายใจ
เนื่องจากสรีระของหญิงตั้งครรภ์จะมีภาวะอึดอัดหายใจลำบาก เหนื่อยง่าย ตัวอย่างเคสหญิงท้อง8 เดือนติดโควิด-19 ต้องผ่าคลอดที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง มีค่าใช้จ่ายทั้งหมด 150,000 บาท และขณะผ่าคลอดคนงานหญิงได้เสียชีวิต
นางสาวอัณธิกา กล่าวอีกว่า เครือข่ายฯมีข้อเสนอต่อกระทรวงแรงงาน เพื่อนำไปพิจารณา ดังนี้
ขณะที่ นายสุชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังหารือร่วมกับกลุ่มเครือข่ายแรงงาน ว่า มาตรการดูแลกลุ่มคนงานหญิงตั้งครรภ์นั้น ควรมีสถานที่ทำงานที่เหมาะสม มีความปลอดภัย พร้อมให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเร่งออกร่างประกาศกระทรวงโดยเร็วที่สุด
และเร่งประชาสัมพันธ์ เพื่อขอความร่วมมือไปยังสถานประกอบการให้สตรีที่มีผลตรวจว่าตั้งครรภ์ ควรกำหนดให้มีการทำงานที่บ้าน โดยให้จ่ายค่าแรงเต็มจำนวน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19
ทั้งนี้กระทรวงแรงงานได้ดำเนิน ทั้งการตรวจคัดกรองโควิดเชิงรุก ในสถานประกอบการ การส่งเสริมให้สถานประกอบการดำเนินการตามโครงการ Factory Sandbox การฉีดวัคซีนโควิดแก่ ผู้ประกันตน และการเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19