รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
วัคซีน 2 เข็มฉีดสลับกัน ได้ผลดีกว่าฉีดวัคซีน 2 เข็มเหมือนกัน 3 เท่า และฉีดกระตุ้นเข็มสาม ได้ผลดีกว่าฉีด 2 เข็มอยู่ 11 เท่า
จากที่ประเทศไทยมีวัคซีนฉีดเป็นหลักในขณะนี้สองชนิดได้แก่
1.วัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตาย ของบริษัท Sinovac
2.วัคซีนเทคโนโลยีไวรัสเป็นพาหะของบริษัท AstraZeneca
ตลอดจนมีไวรัสกลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งกระทบกับประสิทธิผลของวัคซีนทุกชนิด ทำให้มีคำถามที่ประชาชนทั่วไปอยากทราบว่า การฉีดวัคซีนสลับชนิดกัน ผลจะดีขึ้นมากน้อยอย่างไรต่อไวรัสสายพันธุ์เดลตา และกรณีมีความจำเป็น ต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มสาม ผลจะเป็นอย่างไรบ้าง
วันนี้ได้มีรายงานการศึกษาของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
ในการศึกษาทดลองหาระดับภูมิคุ้มกันของผู้ที่ได้รับวัคซีน แล้วนำไปใช้ยับยั้งไวรัสเดลต้าในห้องทดลอง ที่เรียกว่าวิธี PRNT (Plaque Reduction Neutralization Test) พบผลสรุปที่น่าสนใจดังนี้
1.ฉีดวัคซีนสลับ (Mix and Match) โดยใช้เข็มหนึ่ง Sinovac เข็มสองของ AstraZeneca (SV-AZ) จะมีประสิทธิผลดีกว่าฉีด Sinovac สองเข็ม (SV-SV) 3.23 เท่า และดีพอๆกับฉีด AstraZeneca สองเข็ม(AZ-AZ)
SV-AZ ดีกว่า SV-SV อยู่ 3.23 เท่า SV-AZ ดีพอๆกับ AZ-AZ
2.ฉีดวัคซีน Sinovac สองเข็ม แล้วตามด้วยการกระตุ้นเข็มสาม (Booster dose) เป็น AstraZeneca ( SV-SV-AZ) มีประสิทธิผลสูงกว่าฉีด Sinovac สองเข็ม (SV-SV) อยู่ 11.15 เท่า และดีกว่าการฉีดกระตุ้นเข็มสามด้วย Sinopharm (SV-SV-SP)
ซึ่งการฉีด Sinovac สองเข็มแล้วกระตุ้นเข็ม 3 ด้วย Sinopharm จะมีประสิทธิผลดีกว่า Sinovac สองเข็มอยู่ 2.52 เท่า
SV-SV-AZ ดีกว่า SV-SV 11.15 เท่า
SV-SV-SP ดีกว่า SV-SV 2.52 เท่า
นอกจากนั้นยังมีการศึกษาวิจัยตรวจหาระดับภูมิคุ้มกัน (Anti-S RBD) หลังจากฉีดวัคซีนสองเข็ม ผลปรากฏว่า
1.ฉีด Sinovac แล้วตามด้วย AstraZeneca ภูมิคุ้มกันขึ้น 716 หน่วย
2.ฉีด Sinovac สองเข็ม ภูมิคุ้มกันขึ้น 117 หน่วย
3.ฉีด AstraZeneca สองเข็มภูมิคุ้มกันขึ้น 207 หน่วย
จะเห็นได้ว่าการฉีดสลับวัคซีนกันเข็มแรก Sinovac ตามด้วยเข็มสองเป็น AstraZeneca (SV-AZ) จะมีระดับภูมิคุ้มกันขึ้น ดีกว่าฉีด Sinovac สองเข็ม (SV-SV)
ถือว่าเป็นข้อมูลการศึกษาเบื้องต้นที่น่าสนใจ และเมื่อมีตัวเลขจำนวนตัวอย่างเพิ่มมากขึ้น ก็จะช่วยทำให้มีความมั่นใจมากขึ้นในการรับวัคซีนสลับชนิดกัน
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลการายงานของศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแจาวันที่ 28 ก.พ.- ส.ค. 64 พบว่า มีการฉีดสะสมแล้วจำนวน 25,167,060 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 19,143,574 ราย ฉีดครบ 2 เข็มจำนวน 5,503,882 ราย และฉีดเข็มที่ 3 จำนวน 519,604 ราย