อย. เตือนอย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์ Efferin อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง

24 ส.ค. 2564 | 05:09 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ส.ค. 2564 | 12:20 น.

อย.ตรวจสอบพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์ Efferin ทางสื่อออนไลน์ อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ตั้งแต่สามารถกระตุ้นการเผาผลาญได้อย่างดีเยี่ยม ไปจนถึงช่วยให้การทำงานของตับดีขึ้น ฯลฯ พร้อมสร้างสตอรีความเป็นมาของสินค้าจับแพะชนแกะข้อมูลเท็จเพิ่มความน่าเชื่อถือ

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยวันนี้ (24 ส.ค.) ว่า ได้ดำเนินการ ตรวจสอบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการโฆษณา ผลิตภัณฑ์ Efferin ทางสื่อออนไลน์ ที่อวดอ้างสรรพคุณว่า “กระตุ้นการเผาผลาญได้อย่างดีเยี่ยม...ส่งเสริมการกำจัดไขมันขั้นสุด...กระตุ้นเนื้อเยื่อไขมันสีน้ำตาล... ช่วยลดคลอเรสเตอรอลในเลือด ช่วยสลายและใช้งานไขมัน กำจัดไขมันส่วนเกินจากกระแสเลือด ทำให้เนื้อเยื่อไขมันลดลง... มีประสิทธิภาพในการต้านภาวะซึมเศร้า…ช่วยให้การทำงานของตับดีขึ้น” เป็นต้น

 

พร้อมกันนั้น มีการสร้างเรื่องราวเกี่ยวกับแพทย์หญิงชื่อดังชาวไทยถูกไล่ออกจากประเทศชั้นนำ เนื่องจากปฏิเสธที่จะขายผลิตภัณฑ์เผาผลาญไขมันสูตรพิเศษให้แก่บริษัทยาในประเทศนั้น จึงได้กลับประเทศไทยและร่วมกับผู้ทรงอิทธิพล ผลิตผลิตภัณฑ์เอฟเฟอร์รินขายเฉพาะในประเทศไทย

 

จากการตรวจสอบของอย. พบว่า การโฆษณากล่าวอ้างข้างต้นเป็นข้อมูลลวง โดยผลิตภัณฑ์ Efferin ขออนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในชื่อ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เอฟเฟอร์ริน/Efferin Dietary Supplement Product เลขสารบบอาหาร 10-1-03958-5-0272 โฆษณาดังกล่าวแสดงข้อมูลทางการแพทย์ที่เป็นเท็จ และแสดงคุณประโยชน์หรือสรรพคุณของอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากในการยื่นขออนุญาตไม่มีการยื่นข้อมูลเพื่อประเมินประสิทธิผลตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด อีกทั้งผลิตภัณฑ์อาหารไม่มีผลในการบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค

ภาพจาก อย.

นอกจากนี้ ยังพบมีการแอบอ้างชื่อบุคลากรทางการแพทย์ในตำแหน่ง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพต่อมไร้ท่อเป็นผู้คิดค้นผลิตภัณฑ์ดังกล่าวและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเบาหวานและนักโภชนาการเป็นผู้รับรองผลิตภัณฑ์ แต่แท้จริงแล้วนั้น ไม่มีตำแหน่งดังกล่าวตามที่กล่าวอ้าง และภาพหญิง-ชายที่อ้างว่าเป็นผู้คิดค้นและรับรองผลิตภัณฑ์นั้น เป็นภาพหญิง-ชายที่เผยแพร่ทั่วไปอยู่บนอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว 

ทางอย. จึงขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังอย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์ที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง หรือสร้างเรื่องราวดึงดูดความสนใจที่เป็นไปไม่ได้ หากมีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวควรปรับพฤติกรรมการบริโภค ควบคุมอาหาร และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ไม่ควรหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาโอ้อวดเกินจริงทางสื่อออนไลน์ เพราะอาจมีสารที่เป็นอันตราย มีผลข้างเคียงรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากผู้บริโภคพบเห็นเบาะแสการโฆษณา การผลิต/จำหน่ายผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556 หรือ Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

 

ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)