นพ.สถาพร วงษ์เจริญ ประธานกรรมการ มูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยวานนี้ (24 ส.ค.) ว่า ผู้ที่ได้รับ รางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี พ.ศ.2564 คือ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือ “หมอยง” หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากการที่ท่านเป็นผู้อุทิศตนในการศึกษาวิจัยด้านไวรัสวิทยาอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีผลงานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่นำไปสู่การดูแล รักษา และป้องกันโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขจำนวนมาก
สำหรับผลงานโดดเด่นที่ผ่านมาของ ศ.นพ.ยง อาทิ เป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยทางด้านไวรัสตับอักเสบในประเทศไทย ทำการศึกษาตั้งแต่อณูชีววิทยาไวรัสตับอักเสบ ระบาดวิทยา อาการทางคลินิก การรักษา และป้องกันด้วยวัคซีน เป็นรากฐานของการให้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบในประเทศไทย ทำให้อุบัติการณ์ของไวรัสตับอักเสบบีลดลงอย่างมาก
นอกจากนี้ ยังมีผลงานการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน การตรวจวินิจฉัยโรคทางอณูชีววิทยา และแนวทางการรักษา โดยเฉพาะโรคไวรัสอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ เช่น โรคไข้หวัดนก โรคไข้หวัดใหญ่ โรคทางเดินหายใจชนิดต่างๆ ที่เกิดจากไวรัส โรคท้องเสียที่เกิดจากไวรัส โรคมือเท้าปาก โรคที่นำโดยยุงและแมลง ได้แก่ ไข้เลือดออก ไข้ไวรัสชิก้า ไข้ปวดข้อยุงลาย มีผลงานต่อเนื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมาก
ศาสตราจารย์ ศ.นพ.ยง ยังได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสถาบันวัคซีนนานาชาติ ทำการศึกษาการให้วัคซีนป้องกัน HPV เพียงโดสเดียว ที่จังหวัดอุดรธานีและบุรีรัมย์ โดยทางศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก เป็นผู้รับผิดชอบการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
จากการระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2562 และเข้าสู่ประเทศไทยในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 มาจนถึงปัจจุบัน ทางศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ได้ทำการศึกษาพันธุกรรมอย่างต่อเนื่อง พัฒนาการตรวจวินิจฉัยสายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งการตรวจในระบบภูมิต้านทาน และการศึกษาเกี่ยวกับวัคซีน ปรับวิธีการใช้ให้เหมาะสมสำหรับประเทศไทยตามทรัพยากรที่มีอยู่ให้ได้ประโยชน์สูงสุด
“ศ.นพ.ยง เป็นนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย ที่ได้อุทิศตนให้กับการศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์อย่างจริงจังและต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานกว่า 40 ปี นอกจากนี้ ท่านยังมีความซื่อสัตย์ อดทน และกตัญญู ทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทำให้เป็นที่รักใคร่ของเพื่อนร่วมงาน เป็นผู้ใช้ชีวิตแบบสมถะ ดำรงไว้ซึ่งจริยธรรมของนักวิจัย อีกทั้งยังเป็นผู้ที่เปี่ยมด้วยความรู้ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์ และเป็นที่เคารพรักของลูกศิษย์จำนวนมาก” ประธานกรรมการมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว
ทั้งนี้ ในแต่ละปี มูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะทำการคัดเลือกบุคคลซึ่งเป็น “ผู้สร้าง” หรือ “ริเริ่มงาน” และอุทิศตนเพื่อประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยมีผลงานที่มีประโยชน์ต่อการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทยอันเป็นที่ประจักษ์ เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นแบบอย่างให้แก่บุคคลในวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์และบุคคลทั่วไป เพื่อรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ