รายงานข่าวระบุว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ดำเนินการออกประกาศเรื่อง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข กรณีการใช้ยาน้ำมันกัญชาในผู้ป่วยโรคมะเร็ง พาร์กินสัน และไมเกรน และการใช้สารสกัดกัญชาในผู้ป่วยโรคลมชัก และมะเร็งระยะท้าย พ.ศ. ๒๕๖๔ โดยมีใจความสำคัญคือ ประกาศดังกล่าวนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 665 เป็นต้นไป ซึ่งหน่วยบริการจะต้องเป็นหน่วยบริการตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้บริการกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิ์ที่ได้รับการวินิจฉัยโรคและมีการใช้น้ำมันกัญชาหรือสารสกัดกัญชา ได้แก่ กรณีการใช้ยาน้ำมันกัญชาที่ผลิตจากช่อดอกซึ่งยามี delta-9-tetrahydrocannabinol (THC) 2.0 mg/ml ได้แก่
1.ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
2.ผู้ป่วยโรคไมเกรน
3.ป่วยโรคพาร์กินสัน
ส่วนกรณีการใช้ยาน้ำมันกัญชาที่ผลิตจากราก ลำต้น กิ่ง ก้าน ใบ ดอก และเมล็ด ได้แก่
1.ผู้ป่วยโรคมะเร็ง (กษัย)
2.ผู้ป่วยโรคไมเกรน (ลมปะกัง)
กรณีการใช้สารสกัดกัญชา
1.ผู้ป่วยโรคลมชักที่รักษายากในเด็ก
2.ผู้ป่วยมะเร็งในระยะท้าย
สำหรับคุณสมบัติของหน่วยบริการ ได้แก่ หน่วยบริการที่มีใบอนุญาตให้จำหน่ายยาเสพติดให้โทษ ประเภท ๕ (กัญชา) โดยมีเงื่อนไข ดังนี้ การใช้ยาน้ำมันกัญชาที่ผลิตจากช่อดอก ซึ่งยามี delta-9-tetrahydrocannabinol (THC) 2.0 mg/ml ต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพ การแพทย์แผนไทยประยุกต์หรือผู้ประกอบวิชาชีพการเวชกรรม เป็นผู้ทำหน้าที่สั่งใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าวต้องผ่านการอบรมหลักสูตรกัญชาทางการแพทย์ที่กระทรวงสาธารณสุขรับรอง และ ต้องผ่านการอบรมการใช้นำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา) จากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ตามเงื่อนไขของโครงการที่ขออนุมัติไว้กับคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ
กรณีการใช้ยาน้ำมันกัญชาที่ผลิตจากราก ลำต้น กิ่ง ก้าน ใบ ดอก และเมล็ด ต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย หรือผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ เป็นผู้ทำหน้าที่สั่งใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าวต้องผ่านการอบรมหลักสูตรกัญชาทางการแพทย์ที่กระทรวงสาธารณสุขรับรอง และต้องผ่านการอบรมแนวทางการใช้ยาน้ำมันกัญชาทั้ง 5 จาก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรตามเงื่อนไขของโครงการที่ขออนุมัติไว้กับคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ
กรณีการใช้สารสกัดกัญชา ต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพการเวชกรรมซึ่งผ่านการอบรมหลักสูตรกัญชาทางการแพทย์ที่กระทรวงสาธารณสุขรับรอง รวมถึงได้รับการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้เป็นผู้สั่งใช้สารสกัดกัญชา
กรณีการใช้สารสกัดกัญชารักษาโรคลมชักที่รักษายากในผู้ป่วยเด็ก ให้อยู่ภายใต้การดำเนินการของกุมารแพทย์อนุสาขากุมารเวชศาสตร์ ประสาทวิทยา และตามเงื่อนไขของโครงการที่ขออนุมัติไว้กับคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ
ขณะที่การใช้ยาน้ำมันกัญชาที่ผลิตจากช่อดอก ซึ่งยามี delta-9-tetrahydrocannabinol (THC) 2.0 mg/ml โดยข้อบ่งชี้ เป็นผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง (ทุกชนิด) หรือผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไมเกรน หรือผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นพาร์กินสัน เพื่อบรรเทาอาการ ดังนี้ ปวด และ/หรือนอนไม่หลับ และ/หรือเบื่ออาหาร