นายโสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงาน Thailand Focus 2021: Thriving in the Next Normal หัวข้อ "วิถีดำรงชีพยุคใหม่: ถอดบทเรียนโควิด-19 สู่ทิศทางแห่งอนาคต" ว่า ขณะนี้เป็นสถานการณ์สำคัญมาก ทุกวันจะมีคนป่วยครึ่งล้านรายทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทยช่วงต้นเดือนกรกฎาคม การระบาดของสายพันธุ์เดลต้าทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเชื่อว่าช่วงพีคหรือที่มีการระบาดสูงสุดของระลอกเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และกำลังอยู่ในช่วงที่การระบาดลดลง
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าไม่นานก็จะสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ จากสัญญาณจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่ลดลง อีกทั้งรัฐบาลไทยได้ใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมการระบาด ทั้งมาตรการป้องกันด้านการแพทย์ และการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ควบคุมการระบาดได้ คือการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน โดยได้เริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา รวมถึงเร่งจำนวนขึ้นในช่วงต้นมิถุนายน และปัจจุบันได้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 21 ล้านโดส หรือประมาณ 30% ของประชากรไทยได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว และประมาณ 10% ได้รับครบสองเข็ม
นอกจากนี้ ยังมีแผนการที่จะฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดในช่วง 4 เดือนจากนี้ไป ซึ่งจะมีจำนวนวัคซีนเพิ่มมากขึ้นและมีความหลากหลายมากขึ้น เช่น วัคซีนไฟเซอร์ ที่เข้ามาในช่วงปลายปีนี้ ส่วนวัคซีนที่มีอยู่แล้วก็คือแอสตราเซเนก้า ซิโนฟาร์มและซิโนแวค ทั้งนี้ รัฐบาลไทยสามารถจัดหาวัคซีนได้มากกว่า 100 ล้านโดสเพื่อให้ครอบคลุมประชากร 50 ล้านคน ซึ่งจะเพียงพอให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ทันในช่วงปลายปีนี้
ขณะที่ โมเดลภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์ เริ่มเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นโมเดลที่ต้องการแสดงต่อประชาคมนานาชาติว่าประเทศไทยสามารถจัดให้มีการท่องเที่ยวแบบปลอดภัยได้ ซึ่งในจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาราว 24,000 คนนั้น มีเพียง 70 กว่าคนเท่านั้นที่ตรวจพบการติดเชื้อ และส่วนใหญ่มีอาการเพียงเล็กน้อย บางคนไม่มีอาการเลย นักท่องเที่ยวเหล่านี้สามารถเดินทางท่องเที่ยวในภูเก็ตภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ ในช่วงต่อไปจะมีการขยายโมเดลนี้ไปยังสถานที่ท่องเที่ยวหรือเมืองอื่นๆ เช่น กระบี่ พังงา เกาะพีพี เกาะยาว และเกาะสมุย ที่อยู่ทางด้านอ่าวไทย ซึ่งโครงการนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความปลอดภัย และคาดว่าจะสามารถจะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น