แนวทางการใช้ยาต้านโควิด-19 หมออนุตตรชี้ Remdesivir ช่วยลดการตายในภาพรวม

26 ส.ค. 2564 | 11:29 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ส.ค. 2564 | 18:28 น.

หมออนุตตรเผยแนวทางการใช้ยาต้านไวรัสโควิด-19 ชี้ Remdesivir ช่วยลดการใส่เครื่องช่วยหายใจหรือเสียชีวิตในภาพรวม แนะใช้ Favipiravir ตั้งแต่ระยะแรกอาการไม่รุนแรงกับกลุ่มเสี่ยงสูง ภายใน 4 วันหลังมีอาการ

รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ (หมออนุตตร) ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Anutra Chittinandana) โดยมีข้อความว่า    
นาน ๆ จะมีการศึกษายาต้านไวรัสต่อโควิด-19 ที่ได้ผลในการลดการใช้เครื่องช่วยหายใจและการเสียชีวิต 
หมออนุตตร ระบุว่า มีรายงานของยา Remdesivir เป็น online ahead of print ลงใน Clin Infect Dis เมื่อกลางเดือนสิงหาคม เรื่อง Remdesivir for the prevention of invasive mechanical ventilation or death in COVID-19 - A post-hoc analysis of the Adaptive COVID-19 Treatment Trial-1 Cohort Data สรุปว่า
การรักษาด้วย Remdesivir ช่วยลดการใส่เครื่องช่วยหายใจหรือเสียชีวิต ในภาพรวม (hazard ratio 0.67; [95% CI: 0.52, 0.87] p=0.0023 และในกลุ่ม Ordinal score (OS) 5 คือกลุ่มที่ต้องใช้ออกซิเจน (hazard ratio 0.45; [95% CI: 0.29, 0.71] p=0.0003)  โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง The “high risk” quartile เป็นกลุ่มที่ได้ผลจาก Remdesivir อย่างชัดเจน (hazard ratio 0.59; [95% CI: 0.39, 0.87] p=0.009)

นอกจากนั้น  ถ้าเป็นไปตามที่มีข่าว นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์เปิดเผยว่าข้อมูลจากผู้ป่วย 424 ราย พบว่ากลุ่มที่ได้รับยา Favipiravir รวดเร็วภายใน 4 วัน นับตั้งแต่มีอาการ สามารถลดอาการรุนแรงลงได้ 28.8%
จากข้อมูลตอนนี้ การใช้ยาต้านไวรัสน่าจะมีแนวทาง

การใช้ยาต้านไวรัสโควิด-19
1.ใช้ Favipiravir ตั้งแต่ระยะแรกอาการไม่รุนแรงกับกลุ่มเสี่ยงสูง ภายใน 4 วันหลังมีอาการ โดยเฉพาะใน Home และ Community isolation เพราะเป็นยารับประทาน อาจช่วยลดอาการรุนแรงและลดการนอนโรงพยาบาลได้ตามที่กรมการแพทย์บอก เพราะงานวิจัยของ Favipiravir ถ้าให้เมื่อมีอาการมากแล้ว ไม่ช่วยลดการใช้เครื่องช่วยหายใจหรือเสียชีวิต
2.ใช้ Remdesivir เมื่อจำเป็นต้องได้รับออกซิเจน และรับไว้ในโรงพยาบาล โดยผู้เชี่ยวชาญคงต้องกำหนดแนวทางที่ชัดเจน เช่น ระยะเวลาหลังมาอาการ  ระดับ oxygen saturation  ผล chest X-ray การใช้ HFNC ให้ชัดเจน

ปัญหาสำคัญคือเราจะมียาพอสำหรับข้อบ่งชี้แบบนี้ไหม เพราะตอนนี้การกระจาย Favipiravir ถึงแม้จะดีขึ้น แต่ก็ยังไม่คล่องตัวที่จะใช้ในข้อบ่งชี้ตั้งแต่มีอาการไม่รุนแรง  ยิ่ง Remdesivir แค่ใช้ในคนตั้งครรภ์ตามข้อบ่งชี้ในปัจจุบัน และในกลุ่มอาการหนักตามความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็ยังไม่ค่อยจะพอใช้กันอยู่แล้ว  ไม่รวมเรื่องราคาและงบประมาณที่จะต้องใช้เพิ่มเติมอีก แต่ถ้าซื้อจำนวนมากน่าจะทำให้ราคายาลดลงได้มาก
สำหรับสถานการณ์ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ที่รักษาตัวอยู่ในปัจจุบันนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขพบว่ามีทั้งหมด 186,934 ราย แบ่งเป็นรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจำนวน 25,654 ราย อยู่ในโรงพยาบาลสนามและที่อื่นๆ 161,280 ราย มีอาการหนัก 5,174 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ 1,090  ราย