รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
สถานการณ์ทั่วโลก 26 สิงหาคม 2564 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 688,131 คน รวมแล้วตอนนี้ 214,670,836 คน ตายเพิ่มอีก 10,755 คน ยอดตายรวม 4,475,002 คน
5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุด คือ อเมริกา อินเดีย อิหร่าน สหราชอาณาจักร และบราซิล
อเมริกา ติดเชื้อเพิ่ม 160,384 คน รวม 39,145,896 คน ตายเพิ่ม 1,235 คน ยอดเสียชีวิตรวม 649,628 คน อัตราตาย 1.7%
อินเดีย ติดเพิ่ม 46,397 คน รวม 32,557,767 คน ตายเพิ่ม 608 คน ยอดเสียชีวิตรวม 436,396 คน อัตราตาย 1.3%
บราซิล ติดเพิ่ม 30,529 คน รวม 20,645,537 คน ตายเพิ่ม 816 คน ยอดเสียชีวิตรวม 576,645 คน อัตราตาย 2.8%
รัสเซีย ติดเพิ่ม 19,536 คน รวม 6,804,910 คน ตายเพิ่ม 809 คน ยอดเสียชีวิตรวม 178,423 คน อัตราตาย 2.6%
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 23,706 คน ยอดรวม 6,673,336 คน ตายเพิ่ม 93 คน ยอดเสียชีวิตรวม 113,665 คน อัตราตาย 1.7%
อันดับ 6-10 เป็น สหราชอาณาจักร ตุรกี อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และสเปน ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย หลายต่อหลายประเทศติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
หากรวมทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ พบว่ามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 89.36 ของจำนวนติดเชื้อใหม่ทั้งหมดต่อวัน
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน
แถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ยกเว้นอิหร่านติดเพิ่มหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง
เวียดนามติดเพิ่มเกินหมื่นเหมือนฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และญี่ปุ่น
ส่วนเมียนมาร์ และเกาหลีใต้ ติดกันหลักพัน กัมพูชา ลาว สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง และไต้หวัน ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
หมอธีระ ระบุต่อไปอีกว่า สถานการณ์ของไทยเรา จำนวนเสียชีวิตเมื่อวานนี้ของไทยเรา 297 คน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก ปัจจุบันไทยมียอดติดเชื้อสะสมกว่าล้านคน เป็นอันดับที่ 32 ของโลก และมีคนเสียชีวิตไปแล้วมากกว่าหมื่นคน คาดว่าจะแซงสวีเดน และปากีสถาน ขึ้นมาเป็นอันดับ 30 ได้ภายในสัปดาห์นี้
ปัจจัยเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ได้แก่ การอยู่ใกล้ชิดกัน รวมกลุ่มกัน พบปะสังสรรค์ พูดคุยกันในระยะใกล้ สัมผัสกัน แชร์ของร่วมกัน อยู่ในที่ที่ระบายอากาศไม่ดี และการพลั้งเผลอไม่ป้องกันตัว ทั้งเรื่องหน้ากาก และล้างมือ
งานวิจัยหลายชิ้นในช่วงที่ผ่านมา ทั้งในอเมริกา สิงคโปร์ และจีน ได้ยืนยันให้เห็นชัดเจนแล้วว่า โควิด-19 สายพันธุ์เดลตานั้น ทำให้ติดเชื้อแล้วมีปริมาณไวรัสในตัวผู้ป่วยสูงกว่า 1,000 เท่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิม
ไม่ว่าจะเป็นคนที่ฉีดวัคซีน หรือคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ก็สามารถติดเชื้อได้เหมือนกัน ปริมาณไวรัสในตัวก็ไม่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อให้คนใกล้ชิดในครอบครัว เพื่อนฝูง คนในที่ทำงาน และคนอื่นในสังคมได้
อย่างไรก็ตาม คนที่ฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงครบสองโดส จะมีระยะเวลาที่เชื้อในตัวลดลงเร็วกว่าคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ทั้งนี้หากฉีดวัคซีนครบมักจะมีโอกาสแพร่เชื้อได้อีกราว 6 วันหลังเกิดอาการ ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนอาจมีระยะแพร่เชื้อไปได้ถึง 18 วันหลังเกิดอาการ
ล่าสุดมีการวิจัยในเนเธอร์แลนด์ โดย Shamier MC และคณะ ทำการศึกษาในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีการติดเชื้อแม้ได้รับวัคซีนแล้ว จำนวน 161 คน อายุเฉลี่ย 25.5 ปี และพบหลักฐานที่สอดคล้องกันกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่กล่าวมาคือ ปริมาณไวรัสในตัวผู้ป่วยไม่ได้แตกต่างจากคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน
ด้วยข้อมูลวิชาการต่างๆ ที่กล่าวมา หากประเทศไทยดำเนินนโยบายโดยจะเปิดเกาะ เปิดท่องเที่ยว เปิดประเทศ ดังที่ประกาศมาตลอด และอาจผ่อนคลายมาตรการให้มีการประกอบกิจการต่างๆ โดยที่สถานการณ์ระบาดยังกระจายทั่ว รุนแรง และตัดวงจรระบาดไม่ได้ ก็จะพอคาดการณ์ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นตามมาได้ว่า การระบาดจะต้องมีโอกาสทวีความรุนแรงมากขึ้น
จากบทเรียนปีที่แล้วในอเมริกา หลังประกาศให้นั่งกินในร้านอาหาร จำนวนการติดเชื้อใหม่จะเพิ่มขึ้นภายใน 41-100 วัน และจำนวนเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นภายใน 61-100 วัน
ดังนั้นหากไทยดำเนินนโยบายดังกล่าว พร้อมกับมีทั้งเปิดเกาะ เปิดท่องเที่ยว เปิดประเทศ ก็ควรเตรียมรับมือสถานการณ์ระบาดที่มีโอกาสทวีความรุนแรงได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีด้วย
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 26 สิงหาคม 64 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลการรายงานจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 18,501 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,362 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 139 ราย ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,092,006 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 229 ราย หายป่วยกลับบ้าน 20,606 ราย กำลังรักษา 186,934 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 896,195 ราย
ขณะที่ในวันนี้ ศบค. ชุดเล็ก จะมีการประชุมจะมีการทบทวนมาตรการในเรื่องการกำหนดมาตรการการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อจะนำไปสู่การประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม 64