สัญญาณดี อัตราการครองเตียงผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเหลือง-เขียว มีแนวโน้มลดลง

29 ส.ค. 2564 | 18:15 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ส.ค. 2564 | 15:18 น.

สธ. เผยอัตราครองเตียงผู้ติดเชื้อสีเหลือง-เขียว ในกทม.และปริมณฑล แนวโน้มลดลง สะท้อนสถานการณ์ที่ดีขึ้น ผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่แนวโน้มลด ขณะภาครัฐเดินหน้าเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ที่พบติดเชื้อเพิ่มขึ้นและเสียชีวิตมากกว่าปกติ 2.5 เท่า

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผย สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มลดลง อัตราครองเตียงผู้ติดเชื้อสีเหลืองและเขียว พื้นที่กทม.และปริมณฑลเริ่มผ่อนคลาย ด้านโรงพยาบาลบุษราคัมผู้ติดเชื้อลดลงกว่า 54%  เดินหน้าเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากพบติดเชื้อเพิ่มขึ้นและเสียชีวิตมากกว่าปกติ 2.5 เท่า

 

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด 19 ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี วานนี้ (29 ส.ค.) ว่า สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้มีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้อัตราครองเตียงในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลเริ่มผ่อนคลาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองและเขียว

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

 

โดยข้อมูล โรงพยาบาลบุษราคัม ล่าสุด ณ วันที่ 28 ส.ค. 2564 มีผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรักษาทั้งสิ้น 1,905 ราย ลดลงจากสัปดาห์ก่อนที่มีผู้ติดเชื้อ 3,526 ราย ถึง54% ส่วนศูนย์แรกรับและส่งต่อนิมิบุตร พบอัตราครองเตียงล่าสุด จำนวน 94 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยสีเขียว 54 ราย สีเหลือง 34 ราย และสีแดง 6 ราย ทั้งนี้

  • ผู้ป่วยสีเขียว หมายถึง ผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย เช่น มีไข้ ไอ น้ำมูก ตาแดง ผื่นขึ้น ไม่มีโรคร่วม
  • ผู้ป่วยสีเหลือง หมายถึง ผู้ป่วยโควิดที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงหรือโรคร่วม
  • ผู้ป่วยสีแดง หมายถึง ผู้ป่วยโควิดที่มีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก ปอดอักเสบรุนแรง มีภาวะปอดบวม ความอิ่มตัวของเลือดน้อยกว่า 96% หรืออัตราลดลงของออกซิเจนในเลือดมากกว่า 3% หลังออกแรง  

นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในภูมิภาคยังคงพบการระบาดภายในชุมชน สถานประกอบการ ตลาด และแคมป์คนงาน จึงได้กำชับให้ตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK และนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการแยกกักตัวที่บ้านและชุมชน เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การติดเชื้อยังคงพบจากบุคคลใกล้ชิดในครอบครัว นำเชื้อแพร่สู่กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนจนทำให้มีการเสียชีวิต จึงได้เน้นย้ำให้เร่งฉีดวัคซีนใน “กลุ่มเสี่ยง 608” ซึ่งหมายถึง

  • ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • ผู้มี 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง
  • และหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป

เนื่องจากมีรายงานพบการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น และเสียชีวิตมากกว่าปกติ 2.5 เท่า และเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายการฉีดวัคซีนในพื้นที่สีแดงเข้มครอบคลุมอย่างน้อย 70% ของจำนวนประชากร ส่วนจังหวัดที่เหลือให้ได้มากกว่า 50%

 

สำหรับสถิติการฉีดวัคซีนโควิด-19 ถึงวันที่ 28 ส.ค. 2564 ฉีดวัคซีนสะสมแล้ว 30,679,289 โดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 22,807,078 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 7,287,885 โดส เข็มที่ 3 จำนวน 584,326 โดส อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (29 ส.ค.) ที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุข มีมติมอบให้กรมควบคุมโรคพิจารณาแผนการฉีดวัคซีนในกลุ่มบุคคลทั่วไปและการกระตุ้นเข็ม 3 ซึ่งกรมควบคุมโรคจะได้ประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอที่ประชุมในสัปดาห์หน้า และเตรียมกระจายวัคซีนซิโนแวค 1.5 ล้านโดสไปยังพื้นที่ภูมิภาค