"หมออนุตตร" ชี้ผู้ป่วยไตเรื้อรังตายจากโควิดสูง 15% เมื่อเทียบกับคนทั่วไป

31 ส.ค. 2564 | 03:01 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ส.ค. 2564 | 10:01 น.

หมออนุตตรเผยข้อมูลผู้ป่วยไตเรื้อรังเสียชีวิตจากโควิด-19 สูง 15% เมื่อเทียบกับคนทั่วไปที่เสียชีวิตแค่ 1% เหตุอาการจะรุนแรงได้มากจากภูมิคุ้มกันที่ต่ำ

รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ (หมออนุตตร) ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Anutra Chittinandana) โดยมีข้อความว่า    
ผลกระทบของโควิด-19 กับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการฟอกเลือด 
หมออนุตตร ระบุว่า ได้รับข้อมูลจากคุณธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ที่ช่วยประสานงานเรื่องการหาที่ฟอกเลือดให้กับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ติดเชื้อโควิด-19 ข้อมูลนี้เฉพาะที่มีการติดต่อผ่านทางสมาคมเพื่อนโรคไต และเป็นผู้ป่วยในกรุงเทพและปริมณฑลเป็นส่วนใหญ่  น่าจะยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่เข้ารับการรักษาโดยไม่ได้ติดต่อผ่านทางสมาคมด้วย  และยังขาดข้อมูลจากศูนย์ไตเทียมที่รับฟอกเลือดให้กับผู้ป่วยโควิด-19 อีกบางส่วน
ข้อมูลผู้ป่วยรวม 444 ราย เสียชีวิต 67 ราย คิดเป็น 15% ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ของคนทั่วไปที่เสียชีวิตแค่ 1% เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้มีโอกาสที่โควิด-19 จะรุนแรงได้มาก เพราะภูมิคุ้มกันต่ำ รวมทั้งเมื่อเป็นโควิด-19 แล้ว อาจต้องเว้นการฟอกเลือดไประยะหนึ่ง เพราะศูนย์ไตเทียมส่วนใหญ่ไม่ได้มีศักยภาพเพียงพอที่จะฟอกเลือดให้กับผู้ป่วยโควิด-19 จึงต้องหาคิวในศูนย์ไตเทียมที่รับฟอกเลือดโควิด-19 ซึ่งมีจำนวนเตียงจำกัด ทำให้อาการแทรกซ้อนของโรคไตกำเริบ เช่น น้ำท่วมปอด ระดับโปตัสเซียมสูง ทำให้เสียชีวิตถึงแม้อาการของโควิด-19 จะไม่รุนแรง

ผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ 132 ราย รักษาอยู่ที่บ้านแบบ Home islation (HI) 38 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 94 ราย จะเห็นว่าผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ตามหลักการควรได้รับการรับไว้รักษาตัวใน รพ. แต่ในความจริงมีเกือบ 1 ใน 3 ที่ต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้านแบบ HI ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องฟอกเลือดด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าอัตราที่กองทุนต่าง ๆ ให้เบิกจ่ายได้ เนื่องจากทั้งสามกองทุนไม่ได้มีการปรับการเบิกจ่ายค่าฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมให้กับผู้ป่วยที่ฟอกเลือดแบบผู้ป่วยนอกตามที่สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยได้เสนอไป  ค่าใช้จ่ายบางส่วนที่ผู้ป่วยต้องจ่ายเพิ่มเติม ในผู้ป่วยที่มีปัญหาค่าใช้จ่าย ได้รับการช่วยเหลือด้วยเงินบริจาคผ่านทางสมาคมโรคไตและสมาคมเพื่อนโรคไต
ผู้ป่วยหายแล้ว 201 ราย (45%) และติดต่อไม่ได้ 44 ราย (10%) เช่นติดต่อกลับไม่รับสาย ตรวจสอบข้อมูลแล้วไม่มีประวัติที่ศูนย์ไตเทียม

ผลกระทบของโควิด-19 กับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมและศูนย์ไตเทียมต่าง ๆ จึงต้องดูแลอย่างเต็มที่ด้วยมาตรการ universal prevention ตอนนี้บุคลากรทางการแพทย์ของศูนย์ไตเทียมส่วนใหญ่น่าจะได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว แต่ยังมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งปฏิเสธการรับวัคซีน ตอนนี้เป็นช่วงที่ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังสามารถเข้ารับวัคซีนได้เลย หลายแห่งให้ walk in ได้ คิวก็ไม่ยาวแล้ว อย่าลังเลไปรับวัคซีนกันนะครับ เพราะถ้าเป็นโควิด-19 แล้ว มีความยากลำบากในการหาที่ฟอกเลือด และมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไปถึง 15 เท่า

สำหรับสถานการร์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 31 สิงหาคม 64 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์ข้อมูล โควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
มีการติดเชื้อเพิ่ม 14,666 ราย
ติดเชื้อในเรือนจำ 304 ราย
สะสมระลอกที่สาม 1,175,866 รายสะสมทั้งหมด 1,204,729 ราย
หายกลับบ้านได้ 19,245 ราย
สะสม 994,346 ราย
เสียชีวิต 190 ราย
สะสมระลอกสาม 11,495 ราย
สะสมทั้งหมด 11,589 ราย