เด็กป่วย! อาการแบบไหน?เข้าข่ายติดเชื้อโควิด-19

31 ส.ค. 2564 | 10:32 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ส.ค. 2564 | 17:38 น.

กรมอนามัย เผย วิธีตรวจเช็ค อาการป่วยของเด็กแบบไหน ? ถึงสงสัยว่าเข้าข่ายติดเชื้อโควิด-19 และ ควรตรวจหาเชื้อเพื่อรับการรักษา

31 สิงหาคม 2564 - กรมอนามัย เปิดเผยถึง สาเหตุของการติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กเล็กส่วนใหญ่ พบเกิดจากการใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อในครอบครัว โดยอาการป่วยจากเชื้อโควิด-19 ในเด็กนั้นอาจมีตั้งแต่การติดเชื้อโดยไม่มีอาการ จนไปถึงมีอาการขั้นรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ โดยกลุ่มเสี่ยงที่พบว่าอาจจะมีอาการรุนแรงคือเด็กทารกและเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี หากเด็กมีอาการบ่งชี้เข้าข่ายดังนี้ ควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อทันที

 

ขณะแนวทางการสังเกตอาการผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อ Covid-19 ที่ได้รับการดูแลภายใน Home Isolation หรือ Community Isolation ถ้าผู้ป่วยมีภาวะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ แสดงว่ามีภาวะหายใจลำบาก ให้รีบส่งสถานพยาบาลโดยเร็วที่สุด

 

1. หายใจหอบ หมายถึง หายใจเร็วกว่าอัตราการหายใจตามอายุ ดังนี้

  • อายุน้อยกว่า 2 เดือน อัตราการหายใจ 60 ครั้ง/นาที
  • อายุ 2-12 เดือน อัตราการหายใจ 50 ครั้ง/นาที
  • อายุ 1-5 ปี อัตราการหายใจ 40 ครั้ง/นาที
  • อายุ 5 ปี     อัตราการหายใจ 30 ครั้ง/นาที

2. มีการใช้แรงในการหายใจ เช่น หายใจอกบุ๋ม ชายโครงบุ๋ม หรือปีกจมูกบาน

3. ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 95%

4. ริมฝีปาก เล็บ หรือปลายมือปลายเท้าเขียวคล้ำ

5. ซึมลง งอแง ไม่ดูดนม กินอาหารไม่ได้ เพลีย ไม่มีแรง

6. มีไข้ตั้งแต่ 37.5 องศาขึ้น 

 

ทั้งนี้ หากพบว่ามีอาการดังกล่าวประกอบกับมีประวัติไปในที่ระบาดของเชื้อ หรือมีสมาชิกในบ้านมีเชื้อหรือเป็นกลุ่มเสี่ยง ควรนำเด็กเข้าติดต่อเพื่อตรวจหาเชื้อและรับการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ต่อไป

กรณีเด็กและผู้ปกครองติดเชื้อทำอย่างไร ? 

ส่วนหากพบว่าในครอบครัว มีเด็ก และ ผู้ปกครองติดเชื้อโควิด19  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า ในแนวทางรักษา เด็กและผู้ปกครองที่ได้เข้ารับการรักษา โดยทั่วไปจะจัดให้อยู่ร่วมกันเพื่อให้เด็กอยู่ในความดูแลของผู้ปกครองอย่างเหมาะสม

 

กรณีเด็กติดเชื้อแต่ผู้ปกครองไม่ติดเชื้อ

  • ผู้ปกครองเด็กที่มีอายุไม่เกิน 60 ปี และไม่มีโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ที่อาจเกิดอาการรุนแรง สามารถเข้าไปดูแลเด็กในสถานพยาบาลได้
  • ผู้ปกครองต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมืออย่างถูกวิธีหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับเด็กที่ติดเชื้อ ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสในห้องเป็นระยะด้วยแอลกอฮอล์ความเข้มข้นร้อยละ 70 หรือน้ำยาทำความสะอาด

 

กรณีเด็กไม่ติดเชื้อแต่ผู้ปกครองติดเชื้อ

  • พิจารณาให้ญาติที่ไม่ติดเชื้อเป็นผู้ดูแลเด็ก แต่ผู้ดูแลเด็กไม่ควรเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรงหากติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากเด็กถือเป็นผู้สัมผัสความเสี่ยงสูง ผู้ดูแลชั่วคราวต้องกักตัวต่ออีก 14 วันนับจากวันสุดท้ายที่สัมผัสกับเด็ก
  • กรณีที่หาผู้ดูแลเด็กไม่ได้ และเด็กจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับผู้ปกครองหรือผู้ดูแลที่ติดเชื้อ ให้เด็ก (ที่อายุ 2 ปีขึ้นไป) และผู้ปกครองสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมืออย่างถูกวิธี หลีกเลี้ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้าตา ปาก จมูก ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน
  • หากไม่มีญาติหรือผู้ดูแลเด็ก พิจารณาส่งเด็กไปยังสถานสงเคราะห์หรือบ้านพักในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือใช้พื้นที่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในชุมชน