3 ขั้นตอนการใช้ ถังออกซิเจน ที่บ้านให้ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยติดโควิด-19

04 ก.ย. 2564 | 21:30 น.

เปิดขั้นตอนการใช้ ถังออกซิเจน สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านให้ปลอดภัย ทั้ง ก่อน-หลัง และระหว่างการใช้งาน ที่นี่

จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีการระบาดระลอก 3 ในไทยเวลานี้ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อไว้รัสโควิด-19 และจำนวนผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการป่วยหนักที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งเรื่องดังกล่าวนับเป็นเรื่องใหม่ที่สามารถเรียนรู้ได้ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เผยแพร่ข้อมูลขั้นตอนการใช้ถังออกซิเจนทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยติดโควิดเมื่อต้องกักตัวที่บ้านให้ปลอดภัย 

1.รู้ก่อนใช้

  • ก๊าซออกซิเจนโดยตัวเองไม่ติดไฟแต่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดการลุกไหม้ที่รวดเร็วและรุนแรง
  • ก๊าซออกซิเจนทางการแพทย์ต้องบรรจุในถังสีเขียว ที่มีสัญลักษณ์ มอก.540-2555 
  • ห้ามใช้ถังที่เป็นสนิม
  • ข้อต่อตรงถังต้องใช้เกลียวนอกมาตรฐาน CGA 540 เท่านั้น
  • หัวอุปกรณ์ปรับลดแรงดัน ต้องใช้หัวสำหรับออกซิเจนทางการแพทย์เท่านั้น
  • ควรมีถังดับเพลิงติดตั้งไว้บริเวณใกล้เคียง

2.ระวัง! ตอนใช้ 

  1. เวลาใช้งานให้วางถังแนวตั้งและยึดให้แน่น
  • ระวังการเคลื่อนย้าย หากล้มกระแทกอาจระเบิดได้
  • ห้ามวางถังออกซิเจนในห้องโดยสารรถเพราะถ้าเกิดการรั่วจะเป็นอันตรายได้
  • ตอนใช้งานอยู่ห่างจากห้องครัวอย่างน้อย 5 เมตร และต้องไม่อยู่ใกล้ความร้อนหรือเปลวไฟ เช่น สูบบุหรี่ ไดร์เป่าผม เตารีดดัดผม แผ่นทำความร้อน หรือมีดโกนไฟฟ้า

3.ดูแล หลังใช้

  • อย่าวางถังแนวนอนให้วางตั้งและยึดกับที่ให้แน่น
  • อย่าเก็บในที่ปิด เช่น ตู้เสื้อผ้า หีบ และให้ห่างจากแหล่งความร้อน เปลวไฟอย่างน้อย 1.5 เมตร
  • ติดป้ายห้ามสูบบุหรี่ และห้ามจุดไฟ
  • ปิดวาล์วให้สนิทหลังใช้และหมั่นตรวจสอบการรั่ว
  • ก่อนส่งคืน ควรฆ่าเชื้อด้วยการเช็ดผิวนอกของถังด้วยแอลกอฮอล์ 70% โดยต้องแน่ใจว่า วาล์วปิดสนิทและไม่รั่วไหล 

3 ขั้นตอนการใช้ ถังออกซิเจน ที่บ้านให้ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยติดโควิด-19

อย่างไรก็ดี สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดตั้งศูนย์สนับสนุนออกซิเจนทางการแพทย์เพื่อจัดส่งออกซิเจนทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เข้าแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และชุมชน/ศูนย์พักคอย (Community Isolation) โดยทีมบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการติดตั้งที่ได้มาตรฐาน พร้อมแนะนำการใช้งานที่ถูกต้อง

รวมถึงมีการบริหารจัดการคลังอุปกรณ์ การขนส่ง เบิกจ่าย ที่เป็นระบบตลอด 24 ชั่วโมงโดยผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ 3 ช่องทาง ดังนี้ สายด่วน 1426, เว็บไซต์ http://oxygen.hss.moph.go.th/ และเครือข่ายจิตอาสา โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด