นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบนโยบาย ให้ คพ. ขับเคลื่อนดำเนินการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566-2570)
“พลิกโฉมประเทศไทยสู่...เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน” และ Model เศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) หรือการผสมผสานการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green) ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นวาระแห่งชาติ และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมมลพิษ
ได้เน้นย้ำให้การส่งเสริมสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต้องเกิดการปฏิบัติได้จริง ให้ไปดำเนินการศึกษาข้อมูลตลอดกลยุทธ์แนวทางการส่งเสริมการตลาดเพื่อกระตุ้นให้เกิดตลาดสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
นายอรรถพล กล่าวว่า ปี 2564 มีเกณฑ์ข้อกำหนดสินค้าและบริการทั้งสิ้น 37 รายการ มีจำนวนสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในฐานข้อมูลสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่เว็บไซต์ http://gp.pcd.go.th ปี 2564(ข้อมูลเมื่อสิงหาคม 2564 ) 1,329 รายการ
แบ่งเป็นฉลากเขียว 475 รายการ ตะกร้าเขียว 155 รายการ โรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 364 รายการ ผลิตภัณฑ์ผ้าคูลโหมด 41 รายการ ฉลากลดโลกร้อน 294 รายการ คิดเป็น 735 บริษัท/เครื่องหมายการค้า
การขับเคลื่อนการบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการผ่านหลายช่องทาง ทั้งการบูรณาการการทำงานร่วมกับกรมบัญชีกลางในการยกร่างกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 หมวดที่ 7/2 พัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เพื่อสร้างความมั่นใจในการจัดซื้อจัดจ้างฯ การผลักดันให้เกณฑ์ข้อกำหนดสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของ คพ. อยู่ในเกณฑ์การพิจารณาอื่นๆ เช่น เกณฑ์การพิจารณาสำนักงานสีเขียว (Green office) โรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Hotel) ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
รวมทั้งการขอความร่วมมือให้หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หน่วยงานในกำกับของรัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมการจัดซื้อสินค้าและจัดจ้างบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและการบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง นายอรรถพล กล่าว