จากกรณีที่โฆษกสถานทูตจีนประจำประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Chinese Embassy Bangkok สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย" โดยเนื้อหาใจความบางส่วน ระบุว่าบางคนและบางองค์กรของไทยได้ด้อยค่า ใส่ร้ายวัคซีนจีน "ซิโนแวค" (SINOVAC) ซึ่งถือเป็นการกล่าวหามุ่งร้ายที่ไม่เคารพข้อมูลวิทยาศาสตร์และความเป็นจริง ดังนั้นจึงขอคัดค้านอย่างเด็ดขาด และเรียกร้องให้บุคคลและองค์การที่เกี่ยวข้องยุติการกระทำผิดอย่างร้ายแรงเช่นนี้
วันนี้ (4 ก.ย.) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ออกมาชี้แจง พร้อมยืนยันประสิทธิผลวัคซีนซิโนแวคว่า ในช่วงที่ประเทศไทยต้องการวัคซีนโควิด ช่วงที่มีการระบาดเดือนก.พ. - มี.ค 2564 ในจังหวัดสมุทรสาคร ประเทศจีนได้เข้ามาช่วยโดยเจียดซีนซิโนแวคให้เป็นจำนวนมาก ทำให้ประเทศไทยสามารถออกจากสถานการณ์การระบาด และข้อมูลวิทยาศาสตร์ ยืนยันถึงประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต
และโดยเฉพาะเมื่อมีการแพร่ของเชื้อไวรัสสายพันธ์"เดลตา" วัคซีนทุกชนิดประสิทธิภาพลดลง แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มีประสิทธิภาพ สธ.และเครือข่ายด้านการแพทย์และสาธารณสุของไทยหาวิธี อาศัยการวิจัย ข้อมูลวิทยาศาสตร์จากโรงเรียนแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย มาปรับสูตรวัคซีนไขว้ ทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนมีมากขึ้น การฉีดเป็นไปได้ด้วยดีมากขึ้น ทั่วโลกยอมรับสูตรไขว้ หลายประเทศก็ทำ เช่น เยอรมนี
ยันไม่มีเรื่อง"เงินทอน"
"การส่งวัคซีนของจีนทุกครั้งก็ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลจีน รัฐบาลจีนให้ความสำคัญเรื่องคอร์รัปชั่นมาก เช่นเดียวกับไฟเซอร์ แอสตร้าเซนเนก้า เป็นบริษัทระดับโลก หากมีเรื่องเงินทอนเขาคงไม่นิ่งเฉย"
อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังยืนยันถึงเรื่องการจัดซื้อจัดหาวัคซีนโควิด 19 ว่า ไม่มีเรื่องเงินทอนอย่างแน่นอน อย่างวัคซีนซิโนแวค ที่จัดหามาเมื่อ ก.พ. 2564 ราคาวัคซีน 17 เหรียญ ปัจจุบันหลังมีการซื้อจำนวนมากความต้องการฉีดยังมี ตลาดเปิดกว้างมากขึ้น องค์การเภสัชกรรม (อภ.) แถลงว่าราคาปัจจุบันอยู่ที่ราว 9 เหรียญ เมื่อเทียบวัคซีนเชื้อตายเหมือนกัน ราคาถูกกว่า 50% ไม่มีเงินทอน
ส่วน ไฟเซอร์ชนิด mRNA เทียบกับอีกบริษัทหนึ่งราคาที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดซื้อถูกกว่า 50% ส่วน แอสตร้าเซนเนก้า ที่เราจองล่วงหน้าเป็นเวลานาน ราคาก็ถูกกว่าวัคซีนทุกชนิดที่จัดหาได้ในประเทศ เรื่องเงินทอนไม่มีแน่นอน
"ผมขอให้คนไทยอย่าด้อยค่าวัคซีน จนกลัวไม่กล้าฉีดวัคซีน หลายคนต้องเสียชีวิตก่อนจะได้รับวัคซีน เพื่อประโยชน์ชีวิตคนไทย ขอให้มารับวัคซีนครบถ้วน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลกำหนดแจ้งไว้ "
กางประสิทธิผลวัคซีนซิโนแวค
ด้านนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงประสิทธิผลวัคซีนซิโนแวค โดยยกตัวอย่าง กรณีจังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสัดส่วนการฉีดวัคซีนต่อประชากรค่อนข้างสูงว่า จากรายงานในช่วง 2 เดือน(1 ก.ค.-31 ส.ค.64)มีผู้ติดเชื้อโควิด 3,754 ราย จำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็ม1 และเข็ม 2 มี 2,375 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากโควิดจำนวน12 ราย (11 รายนี้ ยังไม่ฉีดวัคซีน) ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไปเสียชีวิตถึง 8 ราย และมี 1 รายฉีดวัคซีนแอสตร้าฯไปได้ 1 เข็ม
"คนภูเก็ตส่วนใหญ่จะฉีดซิโนแวค 2 เข็ม และจำนวนนี้ไม่มีใครเสียชีวิตเลย ซึ่งก็เป็นตัวพิสูจน์ได้ว่าคนได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง"นายแพทย์โสภณกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีรายงานการศึกษาพบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ 90.5%ในสมุทรสาครช่วงเดือนมีนาคมที่เป็นสายพันธุ์จี และ 90.7% ใน กทม.และปริมณฑลช่วงเมษายน-พฤษาคมที่เป็นสายพันธุ์อัลฟา และบุคลากรทางการแพทย์ จ.เชียงราย ช่วงมิถุนายนที่เป็นสายพันธุ์อัลฟา 82.8% ต่อมามีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ทำให้ปรับเป็นการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าห่างกัน 3 สัปดาห์ ตั้งแต่กรกฎาคมเป็นต้นมา ฉีดสูตรนี้แล้วมากกว่า 2.5 ล้านคน มีผู้ติดโควิดเสียชีวิต 1 ราย อัตราเสียชีวิตถือว่าต่ำมาก (เท่ากับ 0.4 รายต่อล้านคน) เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งพบว่า 1 ล้านคน เสียชีวิตจากโควิด 132 คน ดังนั้น จากข้อมูลซิโนแวค 2 เข็มในภูเก็ตและสูตรไขว้ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า จึงสรุปได้ว่าวัคซีนนี้มีประโยชน์อย่างมากในระยะนี้ที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ส่วนแผนการจัดหาวัคซีนนั้น คาดว่าภายในสิ้นเดือนกันยายนมีวัคซีนมากกว่า 15 ล้านโดส จากซิโนแวค 6 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 7.3 ล้านโดส ซึ่งอาจได้มากถึง 8 ล้านโดส และไฟเซอร์ 2 ล้านโดส ส่วนตุลาคมมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเพิ่มเป็น 10 ล้านโดส ไฟเซอร์ 8 ล้านโดส และซิโนแวค 6 ล้านโดส รวมเป็น 24 ล้านโดส
ขณะที่เดือนพฤศจิกายนและธันวาคม มีเดือนละ 23 ล้านโดส เป็นแอสตร้าเซนเนก้าเดือนละ 13 ล้านโดส และไฟเซอร์เดือนละ 10 ล้านโดส จึงเป็นที่มาของการไม่ได้สั่งเพิ่มซิโนแวคในช่วงนั้น แต่สถานการณ์มีความไม่แน่นอน เช่น การส่งมอบวัคซีน หรือความจำเป็นของการฉีดวัคซีนในเด็กเมื่อมีผลการศึกษาแล้ว ซึ่งวัคซีนเชื้อตายยังเป็นวัคซีนที่ปลอดภัยที่สุดเมื่อเทียบผลข้างเคียงและประโยชน์ที่ได้รับ ก็มีโอกาสที่จะต้องสั่งเข้ามาเพิ่มตามความจำเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยบริหารจัดการวัคซีนให้สอดคล้องกับจำนวนที่ได้รับในแต่ละเดือน เพื่อให้การฉีดเป็นไปอย่างต่อเนื่อง